เผยผลสำรวจตลาดสื่อสารและฮาร์ด แวร์ไทยปีนี้หดตัว จากกำลังซื้อที่ลดลง คาดปีหน้าดีขึ้นจากการใช้งานสมาร์ทโฟนและกระแสทีวีดิจิทัล ชี้การชุมนุมทางการเมืองทำให้ยอดผู้ใช้งานข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตพุ่งสูง แต่หากยืดเยื้ออาจกระทบตลาดไอทีในภาพรวม
นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารและคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ของประเทศไทยประจำปี 2556-2557 เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติและเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ร่วมกันทำโครงการนี้ขึ้น โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม 2556 เน้นสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ประกอบการรายสำคัญในอุตสาหกรรมกว่า 40 ราย
ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ในปี 2556 หดตัวลงจากปี 2555 คือ เติบโตติดลบ 4% คิดเป็นมูลค่า 87,435 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว และภาคครัวเรือนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้หลักลดการใช้จ่ายลง คาดว่าในปี 2557 ตลาดจะสามารถเติบโตได้ 4.3% หรือมีมูลค่า 91,174 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตตามกระแสอุปกรณ์พกพา ส่วนภาพรวมของตลาดสื่อสารปี 2556 มีมูลค่า 466,526 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราเติบโต 8.4% ในปี 2557 หรือคิดเป็นมูลค่า 505,831 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังคงมาจากตลาดบริการสื่อสาร โดยเฉพาะการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต ที่ในปีนี้มีมูลค่า 11,571 ล้านบาท และคาดว่าปี 2557 จะเติบโตเพิ่มอีกกว่า 26.4% เนื่องจากคนนิยมรับข่าวสารทางโซเซียลมีเดียมากขึ้น
อย่างไรก็ดีปัจจัยบวกของตลาดสื่อสารและคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ปีหน้า มาจากกระแสทีวีดิจิทัล การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนและโมบายอินเทอร์เน็ต การใช้งานโครงข่าย 3จี 4จี รวมถึงการเตรียมตัวรองรับการเปิดเออีซี ส่วนปัจจัยลบคือกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ปัญหาภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งหากยืดเยื้อถึงปีหน้าอาจกระทบต่อตลาดไอทีในภาพรวมเพราะทำให้โครงการภาครัฐชะลอตัว แต่ตลาดสื่อสารและฮาร์ดแวร์ในกลุ่มแท็บเล็ตแล้วกลับมองเป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นปัจจัยบวกเพราะมีการใช้งานดาต้าอย่างถล่มทลายในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งการแชร์ข้อมูล อัพโหลดรูปภาพ ไปจนถึง
คลิปวิดีโอ ดังนั้น คาดว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ จำเป็นต้องขยายโครงข่ายการให้บริการและมีโซลูชั่นรองรับการใช้งานที่มีผู้ใช้พร้อม ๆ กัน เป็นจำนวนมาก.