http://manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000089119การเดินไปซื้อของตามห้างร้านจะเป็นการทำร้ายโลกมากกว่าการขับรถไปเสียอีก
การใช้ถุงกระดาษเป็นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าการใช้ถุงพลาสติก
การเผาเศษไม้ให้เป็นเชื้อเพลิงดีกว่าการนำมารีไซเคิล
คำกล่าวเหล่านี้คงยังสร้างความแปลกประหลาดใจให้ใครหลายคนและอาจจะขัดกับกระแสการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการชะลอภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลนี้ ดร. อธิคม บางวิวัฒน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ชี้แจงข้อสงสัยว่า คำกล่าวนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งของนักสิ่งแวดล้อม ชื่อ คริส กูเดิล (Chris Goodall) ซึ่งได้อธิบายเหตุผลที่สนับสนุนความคิดของเขาเหล่านี้ในหนังสือที่ชื่อ How to Live a Low-Carbon Life, based on the green house gases created by intensive beef production
ในหนังสือได้อธิบายถึงหลักการขับรถในระยะทาง 3 ไมล์ หรือ 4.8 กิโลเมตร จะทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศเป็นปริมาณราว 0.87 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินในระยะทางเท่ากัน ซึ่งจะสูญเสียพลังงานที่ใช้ในการเดินราว 180 แคลอรี่ ทำให้ต้องทานอาหารเพื่อชดเชยพลังงานเทียบเท่ากับเนื้อวัว หนัก 100 กรัม ในกระบวนการผลิตเนื้อวัวเพื่อเป็นอาหารมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่การเลี้ยง การแปรรูป การขนส่ง การเก็บรักษา ปริมาณเนื้อวัว 100 กรัม มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 3.6 กิโลกรัม หรือ 4 เท่า ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขับรถ
ถุงกระดาษให้ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติก เพราะการผลิตต้องใช้พลังงานมากกว่า ถุงกระดาษมีความหนากว่า และมีน้ำหนักมากกว่าถุงพลาสติก ดังนั้นการเก็บและการขนส่งจึงต้องใช้พลังงานมากกว่า เศษไม้จากเฟอร์นิเจอร์เก่า ถ้านำมารีไซเคิลต้องมีการขนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้พลังงาน ดังนั้นถ้าเผาเศษไม้เหล่านั้นเป็นเชื้อเพลิง ณ ตรงนั้น และนำพลังงานที่ได้มาใช้ประโยชน์ จะเป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่า"
ดร. อธิคม กล่าวต่อว่า แม้ว่าตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการเดินกับการขับรถอาจจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนัก เพราะอาจมีความเห็นแย้งได้ว่าการทานอาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่แล้ว การที่มนุษย์เดินมากขึ้นบ้าง ทานอาหารมากขึ้นอีกเล็กน้อยเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้ ถ้าจะเปรียบเทียบ ควรเอาอาหารส่วนที่เพิ่มเท่านั้นมาคำนวณและเปรียบเทียบ
ประเด็นของตัวอย่างเหล่านี้อยู่ที่การคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้เชื้อเพลิง ควรต้องคำนวณอย่างครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ หรือที่เรียกกันว่า การวิเคราะห์ครบวงจร (Life Cycle Analysis) ซึ่งคิดตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to Grave) โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดต้องใช้พลังงานและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างกันในแต่ละช่วงอายุของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการผลิต ช่วงการใช้งานและช่วงการทำลายหรือกำจัดทิ้ง คริส กูเดิล ยังได้คำนวณไว้ว่าคนอังกฤษจะทานเนื้อวัวโดยเฉลี่ย 12 กิโลกรัมในหนึ่งปี ซึ่งการผลิตเนื้อวัวในปริมาณขนาดนั้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.4 ตัน
เราไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้คนหันมาขับรถยนต์กันมากขึ้น หรือสวนกระแสการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าวิธีการสมัยใหม่ซึ่งทำให้ได้อาหารมานั้น มีการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา และมีการใช้ปุ๋ยซึ่งมีส่วนประกอบของไนโตรเจนที่ทำให้เกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์มากขึ้น ในบรรดาก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่เกิดขึ้นมีก๊าซไนตรัสออกไซด์(N2O) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความร้ายแรงราว 310 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ดร. อธิคม ได้ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานปริมาณต่างกันในแต่ละช่วงอายุ นั่นคือ เซลล์แสงอาทิตย์ ว่า ในระหว่างการใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์จะให้กระแสไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า เซลล์แสงอาทิตย์ไม่ต้องการเชื้อเพลิง พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ราวกับว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ได้มาฟรี ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากการศึกษาในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเรื่อง Energy Chains Analysis for Comparative Assessment of Electricity Generation Expansion Planning And Emission Reduction Creator โดย น.ส. ภาวิณี ศักดิ์สุนทรศิริ ซึ่งมี รศ.ดร. บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาพบว่า
"กระบวนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ต้องมีการใช้พลังงานปริมาณมาก และมีการปล่อยก๊าซเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่เท่านั้นหลังจากเลิกใช้งานแล้ว กระบวนการทำลายหรือกำจัดทิ้งก็ต้องการพลังงานและมีการปล่อยก๊าซมลพิษเช่นกัน ตลอดอายุของเซลล์แสงอาทิตย์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้นเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 842 กรัมต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 353-443 กรัมต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ในการขนส่งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน โดยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ไปเผาเพื่อให้ได้พลังงาน แม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถือว่าเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชเหล่านั้นดึงดูดไปใช้ในการปรุงอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์แสง จึงไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับบรรยากาศ เป็นผลดีกับภาวะโลกร้อนเสียอีกเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเผาไหม้เป็นพลังงาน แต่ถ้าต้องมีการขนย้ายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ด้วยรถบรรทุกซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ย่อมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
รถบรรทุกสิบล้อคันหนึ่งๆพร้อมรถพ่วงสามารถบรรทุกได้ราว 30 ตัน ถ้าต้องขนย้ายวัสดุเหลือใช้เหล่านี้เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร และถ้าอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเป็น 4 กิโลเมตรต่อลิตร ทุกๆ 100 กิโลเมตรจะต้องใช้น้ำมัน 25 ลิตร และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 2.67 กิโลกรัมต่อลิตร (
www.epa.gov) หรือประมาณ 67 กิโลกรัม นั่นหมายความว่าวัตถุประสงค์ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ถูกบิดเบือนไป จึงน่าจะดีกว่ามากถ้าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ถูกเผาหรือแปรรูปเป็นพลังงาน ณ. จุดกำเนิดแทนการขนย้ายเป็นระยะทางไกล"
ทิ้งท้ายด้วยข้อสงสัยที่ว่า การเผาเศษไม้ให้เป็นเชื้อเพลิงดีกว่าการนำมารีไซเคิล ดร. อธิคม ชี้แจงว่า การนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์ หรือการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ ลดการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศ และลดการพึ่งพาพลังงานจากนอกประเทศ แต่การรวบรวมและนำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ย่อมหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรในการเก็บรวบรวม ขนส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลหรือโรงไฟฟ้าไม่ได้ เครื่องจักรและรถบรรทุกเหล่านี้ใช้น้ำมันซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลที่นำเข้าจากต่างประเทศ
การขนย้ายเป็นระยะทางไกลมากขึ้น ต้องใช้น้ำมันมากขึ้น คงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าควรขนย้ายวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ได้ไม่เกินระยะทางเท่าใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตส่วนที่เป็นพลังงานของแต่ละโรงงาน ถ้าราคาของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบวกกับค่าใช้จ่ายในการขนย้ายแล้วยังถูกกว่าต้นทุนพลังงานที่ใช้อยู่ โรงงานนั้นก็จะยินดีที่จะจ่าย แต่ถ้าวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ถูกใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องมีการขนย้ายไกลๆ เราก็ไม่ต้องสูญเสียพลังงานเพื่อการขนส่งโดยไม่จำเป็น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศก็จะดีขึ้น เหมือนกับที่ คริส กูเดิล แนะนำไว้ในหนังสือของเขาว่า อย่าซื้อสินค้าที่เดินทางมาไกลจนเกินไป