ผู้เขียน หัวข้อ: KBank Private Banking วางเป้าปี 65 ดัน AUM โต 5-6% จากปีนี้แตะ 9 แสนลบ.  (อ่าน 555 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Jessicas

  • *
  • กระทู้: 511
  • Popular Vote : 0
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจ KBank Private Banking ปี 65 ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) จะเติบโตราว 5-6% จากปีนี้ที่คาดอยู่ที่ระดับ 9 แสนล้านบาท

ธนาคารยังคงสานต่อกลยุทธ์ 3S ต่อเนื่อง โดยมี 2 พันธกิจสำคัญ คือ 1. การส่งมอบบริการที่ครบถ้วนและคำปรึกษาการลงทุนเพื่อพาพอร์ตลงทุนลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน 2. นำความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ผลักดันและส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และ สังคม ผ่านกลยุทธ์ 3S ได้แก่

S แรก New S-Curve เปิดโอกาสต่อยอดความมั่งคั่งให้กับลูกค้า จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า HNWIs มีความกังวลต่อการลงทุนในยุค Post โควิด-19 เป็นโอกาสสำคัญให้ธนาคารนำเสนอการลงทุนทางเลือก อย่างการลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตผ่านทางกองทุนรวมและหุ้นนอกตลาด

S ที่สอง-Sustainability แนะนำการลงทุนด้วยเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ยั่งยืน เพื่อโอกาสการลงทุนที่ดีกว่า โดยพบว่าบุคคลสินทรัพย์สูง (HNWIs) ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนก่อนตัดสินใจลงทุนและเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าได้

S ที่สาม-Sharing ผสานร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรสาธารณกุศล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลูกค้าที่ต้องการจัดตั้งมูลนิธิของครอบครัว โดยให้คำแนะนำด้านการลงทุนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายและมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจให้ความก้าวหน้า สร้างโลกที่ยั่งยืน และสร้างสังคมที่มีความสุข

ทั้งนี้ ธนาคารแนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุนในปี 65 ได้แก่

1. เพิ่มเงินสดในพอร์ตเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ท่ามกลางราคาของหลายๆ สินทรัพย์ที่เริ่มตึงตัว หากตลาดมีการปรับฐานก็สามารถใช้โอกาสการเข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง

2. ลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถชดเชยราคาที่จะถูกกดันจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นได้

3. ตลาดหุ้นยังน่าสนใจลงทุน หนุนโดยกำไรสุทธิที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

4. แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือ หุ้น Value หรือหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรหรือ หุ้น Cyclical เช่น กลุ่มการเงิน ที่ราคาพื้นฐานยังคงน่าสนใจ

5. ลงทุนในหุ้นกู้ตลาดเกิดใหม่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในเอเชีย ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว

6. ประเมินค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น สวนทางกับค่าเงินยูโร

7. ลดสัดส่วนการลงทุนในทองคำ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้นจะกดดันราคาทองคำ

8. เน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก (Active) มากกว่าลงทุนตามดัชนี (Passive) โดยปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะตลาด

9. ความผันผวนถือเป็นโอกาสในการลงทุน

10. การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainability) เป็นกุญแจสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นให้กับพอร์ตการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งธนาคารจะยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 65 การลงทุนใน Traditional Assets Class หุ้น ตราสารหนี้ ยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ 7-8% โดยยังเชื่อมั่นว่าพอร์ตการลงทุน K-ALPHA ถ้าไม่ได้มีวิกฤตเพิ่มเติม การให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 5-6% หรือ 7-8% ตามความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ มองว่ายังมีความเป็นไปได้ และหากลูกค้ามีความเข้าใจการลงทุนในกองทุนหุ้นนอกตลาด ซึ่งมีการล็อคเงินไว้ค่อนข้างยาว หรือมีความเข้าในในหุ้นกู้ควบอนุพันธุ์ได้ จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีก 3-5% อย่างไรก็ดีหากรวมกันทั้ง Traditional Assets และ Alternatives Invesmentก็จะมีผลตอบแทนถึง 8-12%

สำหรับพอร์ตการลงทุนของธนาคาร โดยพอร์ตที่รับความเสี่ยงได้ต่ำจะลงทุนในตราสารหนี้ ราว 30% และหุ้น 52-60% ที่เหลือจะลงทุนใน Commodities, Alternatives และถือเงินสด 5-10%

ส่วนภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทย มองว่าการเติบโตของตลาดหุ้นไทยน่าจะไม่สูงมากนักในปีหน้า แต่อย่างไรก็ตามหุ้นไทย ยังมีสัญลักษณะของหุ้นที่มีการเติบโตได้ช้า หรือ หุ้น laggard รวมถึงยังมีหุ้นเกี่ยวกับการเปิดเมืองค่อนข้างมาก เช่น หุ้นพลังงาน หุ้นโรงพยาบาล และหุ้นส่งออก โดยกลยุทธ์การลงทุนของธนาคาร ยังให้ความสำคัญกับหุ้น Value หุ้นเปิดเมือง เป็นต้น

ด้านนโยบายการลงทุนในกองทุนทางเลือก อย่าง สินทรัพย์ดิจิทัล ธนาคารมีมุมมองบวกต่อ Digital Asset ที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และเชื่อมโยงอยู่กับภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การออก Coin โดยมีภาคอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์ประชุม โรงแรม หรือคอนโดมิเนียม เป็นคนรองรับ หรือสามารถตรวจสอบมูลค่าได้ ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก

นอกเหนือจากผลงานในการให้คำแนะนำด้านการลงทุน ธนาคารยังให้บริการครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่

บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว (Family Wealth Planning Service) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายครอบครัวเริ่มเปิดรับและเห็นความสำคัญในการวางแผนบริหารสินทรัพย์ครอบครัวมากขึ้น ทั้งแผนระยะสั้นเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไปจนถึงแผนการในระยะยาว โดยในปี 65 มีแผนจะเพิ่มบริการช่วยจัดตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจธุระและธุรกรรมต่างๆ งานด้านสาธารณกุศล (Philanthropy) โดยนำองค์ความรู้จากพันธมิตร Lombard Odier มาปรับใช้เพื่อยกระดับองค์กรสาธารณกุศลของไทย รวมถึงการให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนตามความชอบ (Passion Investment) เช่น การสะสมงานศิลปะ พระเครื่อง เป็นต้น
บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) พบว่า ลูกค้ายังกังวลเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากที่ดินกว่า 90% ที่ลูกค้าถือครองเป็นที่ดินที่ยังรอและยังไม่พร้อมพัฒนา ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราสูง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ Land Loan for Investment จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก และยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธนาคาร โดยในปีนี้มีลูกค้ากว่า 145 รายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ โดยอนุมัติวงเงินไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 9 พันล้านบาท
บริการที่ปรึกษาและโซลูชั่นนอกตลาดทุน (Non-capital Market Solutions) ที่ได้ให้คำแนะนำลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจผ่านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการขยายกิจการและต่อยอดกำไร โดยเป็นตัวกลางในการเจรจาในการระดมทุน โดยในปีนี้ ได้ช่วยระดมทุนให้ธุรกิจ SME ของลูกค้าไปกว่า 4.5 พันล้านบาท รวมไปถึงการให้คำแนะนำการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาด (Private Equity) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุน
ด้านการดำเนินธุรกิจ KBank Private Banking ในปี 64 ยังเติบโต โดยมีจำนวนลูกค้าประมาณ 13,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปี 63 ที่ 3% และ 6% ตามลำดับ ภายในสิ้นปี 64 คาดว่าจะมีสินทรัพย์ลงทุนรวมประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 68% โดยเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และ/หรือมีความซับซ้อน (Sophisticated asset) ถึง 1.5 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 63 ถึง 16% และคาดว่ารายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมการลงทุนจะเติบโตถึง 27%