แบงก์ชาติ เปิดฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์ มาดูกันว่าแข็งแกร่งแค่ไหน ที่สามารถรับมือท่ามกลางภาวะวิกฤติโควิดได้อย่างอยู่หมัด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้รายงานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 64 ว่ามีเงินกองทุนมากถึง 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.72 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 155.0% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (LCR) อยู่ที่ 186.8%
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวที่ 5.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.46 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.14% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยง ด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (stage 2) อยู่ที่ 6.69% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 6.34%
ด้านธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2564 จำนวน 3.85 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 45.1% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ
นอกจากนี้เงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง ยังเป็นเหตุผลที่ให้ แบงก์ชาติ อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ได้แล้ว แต่จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิในปี 2564 โดยพิจารณาจากผลการประเมิน เพื่อทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤติ (stress test) ในช่วงปี 2564-2566 พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้.