ก่อนหน้านี้ เดลตา เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากเพราะพบว่าเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
ประการแรก
เดลตามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา ราว 60% แม้ว่าอัลฟามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วถึง 50%
นอกจากนี้ สายพันธุ์เดลตายังทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองในอินเดียเมื่อเดือน เม.ย. และ พ.ค. อีกทั้งยังกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในสหราชอาณาจักร และยังพบว่าเชื้อสายพันธุ์นี้ได้แพร่เข้าไปในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้วทั้งในสหรัฐฯ จีน แอฟริกา แถบสแกนดิเนเวีย และภูมิภาคในมหาสมุทรแปซิฟิก
ในประเทศไทย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเตือนเมื่อ 28 มิ.ย. ว่า ภายใน 3 เดือนนี้ มีโอกาสที่แซงสายพันธุ์เดลตาจะแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา
ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิดมีแนวโน้มจะล้มป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาถึง 2 เท่า
เชื้อกลายพันธุ์น่ากังวลแค่ไหน
ไม่มีหลักฐานว่าเชื้อกลายพันธุ์ทำให้คนส่วนใหญ่ล้มป่วยหนักกว่าเดิม ก็เหมือนกับเชื้อโควิดสายพันธุ์แรก คนที่เสี่ยงมากที่สุดคือคนสูงวัยและคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม มันก็จะทำให้มีผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเสียชีวิตได้
วัคซีนช่วยลดโอกาสป่วยหนักจากโควิดได้ รวมถึงพวกเชื้อที่กลายพันธุ์ด้วย วัคซีนทำให้คนเสี่ยงติดโควิดน้อยลง แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้หมดความเสี่ยงไปโดยสิ้นเชิงได้
คำแนะนำในการรับมือสำหรับโควิดทุกสายพันธุ์ก็คือให้ล้างมือ รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยในที่แออัด และหมั่นทำให้ในห้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก