ผลการศึกษาหลังการระบาดใหญ่ในช่วงต้นเมื่อปี 2020 พบหลักฐานบ่งชี้ว่า การใช้ข้อห้ามการเดินทางอาจใช้ได้ผลในช่วงแรกในการชะลอการระบาดของ
เชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อเดือน ธ.ค.ปี 2020 ระบุว่า วิธีการนี้ใช้ได้ผลในช่วงแรก ๆ แต่จะเริ่มมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อมีการใช้ในเวลาต่อมา
การศึกษาของศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์เบอร์ลิน (WZB Berlin Social Science Center) ในเยอรมนี เมื่อ ต.ค. 2020 ได้ศึกษาการห้ามเดินทางและอัตราการเสียชีวิตของคนในกว่า 180 ประเทศเมื่อปี 2020 และได้ข้อสรุปดังนี้
มาตรการนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อประเทศต่าง ๆ ใช้ข้อห้ามการเดินทางก่อนจะพบผู้เสียชีวิตจากโควิดเกิน 10 คน
การใช้ข้อบังคับให้นักเดินทางกักโรคมีประสิทธิภาพมากกว่าการห้ามเดินทางเข้าประเทศ (ซึ่งบางกรณีมีข้อยกเว้นให้พลเมืองของตนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ)
การมุ่งเป้าจำกัดการเดินทางของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ได้ผลมากกว่าการใช้ข้อห้ามต่อนักเดินทางต่างชาติทั้งหมด
งานวิจัยที่ศึกษาการแพร่ระบาดของโควิดในสหราชอาณาจักรช่วงแรก ๆ ซึ่งยังมีข้อจำกัดการเดินทางไม่มากนั้น พบว่า มีการนำเชื้อโรคโควิดเข้าสู่ประเทศกว่า 1,000 ครั้ง ส่วนใหญ่มาจากนักเดินทางจากประเทศอื่นในยุโรป
ปัจจุบันมีการพบเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน อย่างน้อยในกว่า 10 ประเทศ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ดร.ดีปติ กุรดาซานี นักระบาดวิทยาจากควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า แม้ข้อห้ามการเดินทางจะช่วยชะลอการระบาดของโอไมครอน แต่ตอนนี้ก็มีความชัดเจนว่า เชื้อได้ระบาดไปในหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว"
"แทนที่จะห้ามการเดินทาง คุณควรมีนโยบายการตรวจคัดกรอง และการกักโรคที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยชะลอการระบาดได้" เธอกล่าว
ผู้โดยสารเข้าคิวรอขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเนเธอร์แลนด์
ปัจจัยสำคัญที่แตกต่างจากช่วงแรกของการระบาดใหญ่ คือ ตอนนี้วัคซีนได้ถูกแจกจ่ายไปทั่วโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าถึงวัคซีนของประชากรแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพเพียงใดในการรับมือกับเชื้อโอมิครอน
ประเทศที่พึ่งพิงรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีหากจะจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ