ในเดือนพฤศจิกายน 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากประมาณการครั้งก่อน จากการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงน้อยกว่าที่คาดในไตรมาส 3 ปี 2564 และแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นจากการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตามนโยบายเปิดประเทศ อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ และการที่ WHO ประกาศให้ Omicron เชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล ทำให้เกิด sentiment เชิงลบต่อผู้ลงทุน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยอาจเพิ่มปริมาณการลดวงเงิน QE หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิด Fund flow ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,568.69 จุด ลดลง 3.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณาช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และ กลุ่มการเงิน
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,568.69 จุด ลดลง 3.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณาช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ
SET Index ใน 11 เดือนแรกปี 2564 ได้แรงหนุนจากเกือบทุกอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และ กลุ่มการเงิน
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 92,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 11 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 95,344 ล้านบาท
ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิเป็นเดือนแรกหลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิมาสามเดือนต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,182 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 73,581 ล้านบาทโดยผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 128,844 ล้านบาท โดย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 2 บริษัท ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 1 บริษัท และใน mai 2 บริษัท โดยใน 11 เดือนแรกปี 2564 SET มีมูลค่าเสนอขายในตลาดแรก (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN-5
Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 18.3 เท่า และ 18.9 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า และ 17.1 เท่าตามลำดับ
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 2.84% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.45%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 607,801 สัญญา เพิ่มขึ้น 5.9% จากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 557,947 สัญญา เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures