ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
คาดเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวได้ 2.8-3.7% ขึ้นกับความรุนแรงของไวรัส Omicron
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยกลับมามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังเริ่มปรากฏการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม การที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มด้านการเดินทาง ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ภายใต้มาตรการการเดินทางและสุขอนามัยต่างๆ ที่คุมเข้มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปิดประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกมีความกังวลต่อความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด ทั้งนี้ ในการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัส Omicron จะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรุนแรงของโรค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ะบาดของสายพันธุ์ Omicron จะบรรเทาลงในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติม โดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
ในกรณีดีนั้น แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลดหรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ ไทยก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น เศรษฐกิจทั้งปี 2565 ก็ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งภายใต้กรณีนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในกรณีแย่ที่สายพันธุ์ Omicron มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานในกรณีแย่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมก็ยังดีกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta ที่เริ่มในช่วงเดือนเม.ย. 64
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ขยายความเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวไทยว่า ในกรณีดีนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 น่าจะฟื้นตัวมาแตะ 4 ล้านคน จากปีนี้ที่ประมาณ 3.5 แสนคน แต่สำหรับกรณีแย่ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือประมาณ 2 ล้านคน เพราะการท่องเที่ยวจะขาดช่วงไป 2-3 เดือน จากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จำเป็นต้องยกระดับการควบคุมการเดินทาง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7-8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้งสองกรณีก็ยังถือว่าห่างไกลจากช่วงก่อนโควิดมาก
สำหรับแนวโน้มภาคการเงินนั้น นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ในกรณีดีที่ผลกระทบจากไวรัส Omicron จำกัด ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังน่าจะทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตามแผน ซึ่งตลาดประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 2565 ถึง 2-3 ครั้ง อันจะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงกว่าไทยในช่วงปลายปี และย่อมจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ ในกรณีแย่ การระบาดของไวรัส Omicron จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อันทำให้เงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกขาดปัจจัยหนุนและอ่อนค่ากว่ากรณีแรก โดยมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน ธุรกิจควรรับมือกับภาวะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง ดังในช่วงระหว่างปี 2564 ที่เงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหว (ระดับอ่อนค่าสุด-ระดับแข็งค่าสุด) กว้างถึง 4 บาทกว่า เทียบกับปี 2563 ที่กรอบประมาณ 3.40 บาท ขณะที่ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะยังไม่ปรับขึ้นในปี 2565 แต่แนวโน้มต้นทุนการกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อ และนักลงทุนรายย่อยไทยคงจะยังแสวงหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง (Search for Yield)
ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2565 นั้น เป็นอีกปีที่คงขับเคลื่อนด้วยความระมัดระวัง เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมองสินเชื่อขยายตัวในกรอบคาดการณ์ 4.0-5.5% ซึ่งชะลอลงจากปี 2564 ที่สินเชื่อขยายตัวแตะระดับ 6.0% ซึ่งดีกว่าคาด เพราะธุรกิจสะสมสภาพคล่อง และมีผลของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ขณะที่ เอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้น เข้าหาระดับประมาณ 3.30% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับราว 3.20% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งแม้จะถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากเพราะยังมีอานิสงส์ของการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท.อยู่ แต่ธนาคารพาณิชย์คงไม่ได้ผ่อนระดับการตั้งสำรองฯ ลงมากนัก อันมีส่วนทำให้ระดับความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 ยังไม่เข้าใกล้ระดับก่อนวิกฤตโควิด