ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เผยฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แนะใส่หน้ากากป้องกัน  (อ่าน 489 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Prichas

  • *
  • กระทู้: 1,059
  • Popular Vote : 0
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนธ.ค. ของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศจะเริ่มเย็นลง ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งฝุ่นจะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจของคนปกติอักเสบ และมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ในกรณีผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้ว อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 โดยบางรายอาจมีอาการระคายคอ ไอ มีเสมหะง่าย หรือมีน้ำมูก

"สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ สิ่งที่ทุกคนต้องเฝ้าระวัง คือ การตั้งการ์ดป้องกันตนเองขั้นสูงสูด เพื่อเป็นเกราะป้องกันโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เก่า และสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มได้ ขณะเดียวกันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ส่งผลกระทนต่อสุขภาพ ก็ยังคงต้องป้องกันตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษด้วยการสวมหน้ากากป้องกัน" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยวันนี้มี 5 พื้นที่ที่มีปริมาณ PM 2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร พิษณุโลก และสมุทรสงคราม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณฝุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ช่วงปลายเดือนธ.ค. เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และลมสงบทำให้ฝุ่นสะสมมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้ทำการสำรวจในหัวข้อที่เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก สอบถามถึงความวิตกกังวลหรือกลัวว่าฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สำรวจระหว่างวันที่ 6 พ.ย.-6 ธ.ค. 64) พบว่า มีความกังวล 79.7% และไม่กังวล 20.3% โดยมีเหตุผลที่กังวล คือ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 65.34% ทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น 59.82% ทำให้โควิดระบาดมากขึ้น 36.2% ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น 30.67% ไม่รู้วิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่น 21.17% และกังวลเรื่องอื่นๆ เช่น กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว, กลัวการสะสมในร่างกาย ทำให้ป่วยได้ภายหลัง, กังวลสุขภาพคนในครอบครัว กลัวกระทบสุขภาพปอด และระบบหายใจ และโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ 11.74%

ประเด็นที่สอง สอบถามว่าประชาชนมีความรู้เรื่องการเกิดฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ พบว่า ทราบ 70.9% และไม่ทราบ 29.1% โดยทราบข้อมูล หรือมีความรู้จากการติดตามเฟซบุ๊กหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 58.28% รู้เองจากการสังเกต 57.93% จากการติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ หอกระจายข่าว 53.1% จากแอปพลิเคชันต่างๆ 35.7% และอื่นๆ เช่น การแจ้งจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, เพื่อนร่วมงานแจ้ง, จากตัวเองที่มีอาการจาม น้ำมูกไหลทุกครั้งถ้าได้ออกนอกบ้านแล้วเจอฝุ่น PM 2.5 และท้องฟ้ามีแต่หมอกควัน รู้สึกระคายคอ 7.59%

ประเด็นที่สาม สอบถามว่าประชาชนมีความรู้สาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ พบว่า รู้ 90.5% และไม่รู้ 9.5% โดยคิดว่าสาเหตุของการเกิดฝุ่นมาจากการจราจร 87.3% โรงงานอุตสาหกรรม 68.92% การเผาขยะ 67.03% การเผาพื้นที่ทางการเกษตร 64.86% และอื่นๆ เช่น เหตุจากธรรมชาติ เช่น ไฟป่า และโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 7.57%

นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้ทำการสำรวจในหัวข้อ "ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และพฤติกรรมป้องกันโรคของประชาชน" ทั้งหมด 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก สอบถามถึงความกังวลต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 (สำรวจวันที่ 1-7 ธ.ค. 64) พบว่า มีความกังวลมาก 28% กังวลปานกลาง 35% กังวลเล็กน้อย 31% และเฉยๆ หรือไม่กังวล 6% โดยประชาชนมีเรื่องที่กังวลต่อสถานการณ์โควิด คือ การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 47% การเปิดเมือง และผ่อนคลายมาตรการ อาจทำให้เกิดการระบาด 10.5% และประชาชนการ์ดตก เช่น สวมหน้ากากไว้ใต้คาง ไม่เว้นระยะห่าง ไม่ล้างมือ เป็นต้น อีก 9.7%

ประเด็นที่สอง สอบถามเรื่องพฤติกรรมป้องกันโรค (DMH) ของประชาชน (สำรวจวันที่ 1-30 พ.ย. 64) พบว่า มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร 80.26% สวมหน้ากากตลอดเวลาในที่สาธารณะ 94.4% และล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก 91.5%

ทั้งนี้ กรมอนามัยมีคำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองในสถานการณ์โควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้านผ่านแอปพลิเคชัน "Air4Thai", สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95, ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ และกินอาหารครบ 5 หมู่ และเน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยา และอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือเวียนศรีษะ ให้รีบไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ให้เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน, ทำความสะอาดจุดที่สะสมฝุ่นภายในบ้าน เช่น ล้างแอร์ พัดลม, ซ่อมแซม ปิดช่องโหว่ หรือรูตามขอบประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 และช่วยกันลดฝุ่น PM 2.5 เช่น งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถที่ปล่อยควันดำ ปลูกต้นไม้ช่วยดักฝุ่นละออง เป็นต้น