นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group) อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าของผู้จัดการ
เงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล โดยห้ามไม่ให้ให้คำแนะนำ หรือ นำสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนในแพลตฟอร์ม DeFi นั้น เมื่อมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับ DeFi ต้องมาตีความกันว่านิยามความหมายคำว่า DeFi ของสำนักงาน ก.ล.ต.นั้นมีขอบเขตอย่างไร
ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีหลายเหรียญที่เป็นประเภท DeFi เช่น เหรียญ DAI ที่มีการซื้อขายอยู่แล้ว เบื้องหลังคือ DeFi ประเภทหนึ่ง หรือเหรียญ ADA ก็เป็น DeFi ประเภทหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น ยังมีข้อสงสัยว่าการเลือกซื้อเหรียญ DAI และ ADA มาให้กับลูกค้านั้นได้หรือไม่ แม้ว่าจะเป็นการซื้อลงทุนไม่ได้เกี่ยวข้องการทำธุรกรรมกับแพลตฟอร์มดังกล่าวก็ตาม
เช่นเดียวกับประเด็นข้อสงสัยต่อมาคือที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถทำบทวิเคราะห์ของเหรียญ DAI และ ADA ให้กับลูกค้าได้หรือไม่
"เฮียริ่งครั้งนี้ต้องดูว่านิยามคำว่า DeFi ที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดมีขอบเขตแค่ไหน เป็นอย่างไร"นายปรุงศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทางสำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์ต่างๆ เช่น Ceiling-Floor รวมถึงการขึ้นเครื่องหมายแจ้งเตือนมาใช้กับตลาดคริปโทเคอเรนซีในไทยนั้น นายปรุงศักดิ์ แสดงความเห็นว่า การนำกฎเกณฑ์ของกระดานซื้อขายหุ้นไทยมาปรับใช้กับกระดานซื้อขายคริปโทฯ สำนักงาน ก.ล.ต.อาจมีมุมมองว่ามีความคล้ายหรือใกล้เคียงกัน
แต่ด้วยเนื้อแท้ของทั้ง 2 ตลาดมีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น ตลาดซื้อขายเหรียญคริปโทฯเองก็มีหลายตลาด บางครั้งเหรียญเดียวกันราคาขึ้นลงของแต่ละตลาดก็แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดซิลลิ่งและฟลอร์คงต้องมาพิจารณาให้ชัดเจนว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งปัจจุบันบางศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยก็มีการเตือนนักลงทุนอยู่แล้ว
"เหรียญในไทยมีกระแสกล่าวถึงว่าเป็นเหรียญคริปโทฯต้มยำกุ้ง คือเหรียญคริปโทฯในไทยมีราคาแพงกว่าในตลาดโลก หากเกณฑ์ดังกล่าวประกาศมาจะกำหนดตัวชี้วัดอย่างไร เพราะธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นระดับโลกไปแล้ว ดังนั้น การใช้ Mindset เดิมอาจไม่เพียงพอในการกำกับดูแลสินทรัพย์รูปแบบใหม่ที่มีการกระจายตัวมีหลากหลายรูปแบบ" นายปรุงศักดิ์ กล่าว
ด้านนายกสิณพจน์ เตชาหัวสิงห์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ผู้ถือครองใบอนุญาต "ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล" กล่าวกับ "อินโฟเควสท์" ว่า การห้ามไม่ให้คำแนะนำหรือออกบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับ DeFi จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีตรงนี้ และยังลดศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศ แม้ว่าการที่สำนักงาน ก.ล.ต. เข้ามาดูแลความเสี่ยงของนักลงทุนนับเป็นเรื่องดี แต่อยากให้ควบคุมมากกว่าปิดกั้น
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวการพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์ต่างๆ เช่น ซีลลิ่ง-ฟลอร์ รวมถึงการขึ้นเครื่องหมายแจ้งเตือนมาใช้กับตลาดคริปโทเคอเรนซีในไทยนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะการปรับตัวขึ้น-ลงของราคาคริปโทฯ เป็นเรื่องนอกเหนือปัจจัยพื้นฐาน อีกทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลมีการซื้อ-ขายทั่วโลก 24 ชั่วโมง หากประเทศไทยมีการนำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้จะยิ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสของนักลงทุน
อนึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต.มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ดังนี้
1. ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใด ๆ บนแพลตฟอร์ม DeFi และ 2. ห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้าง
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.
https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=772 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail:
kunpatu@sec.or.th kanokkan@sec.or.th และ
chawannuch@sec.or.th จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2565
สำหรับประชาชนที่สนใจทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi ควรศึกษาข้อมูลโครงการ DeFi ให้รอบด้าน ทั้งในทางเทคนิคด้านความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนด เงื่อนไข และฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นบนระบบ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และหากพบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ สามารถแจ้งหรือร้องเรียนได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร 1207 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.