บมจ.ฟินันซ่า (FNS) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการ
จำหน่ายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) (โดยถือผ่านบริษัท ฟินันซ่า ฟันด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด (FFM) บริษัทย่อยที่ FNS ถือหุ้น 100%) จำนวน 170,269,978 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.60 บาท คิดเป็นสัดส่วน 29.29% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของ FSS ในราคาหุ้นละ 4.07 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 692,998,810.46 บาท ให้แก่ Pilgrim Finansa Investment Holding Pte.Ltd (PFIH) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศสิงคโปร์ คาดว่าการซื้อขายหุ้น FSS จะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 16 ธ.ค.64 หลังจากที่เงื่อนไขบังคับก่อนทั้งหมดภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นเป็นผลสำเร็จ
ราคาซื้อขายหุ้นสำหรับธุรกรรมฯในราคาหุ้นละ 4.07 บาท เป็นราคาที่ได้มาจากการเจรจาต่อรองระหว่าง PFIH และ FFM โดยเป็นราคาที่เท่ากับราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้น FSS ระหว่างวันที่ 1-19 พ.ย.64 รวมระยะเวลา 15 วันทำการติดต่อกันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเจรจาต่อรองและคำนึงถึงมูลค่าเงินลงทุนของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
เนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวจะส่งผลให้ PFIH ถือหุ้นใน FSS เกินกว่า 25% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ FSS โดย PFIH จึงจะมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ FSS ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 ทั้งนี้ PFIH จะเริ่มกระบวนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ FSS ตามที่ประกาศการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการกำหนดไว้
ทั่งนี้ ธุรกรรมฯจะเกิดขึ้นหลังจากที่ FFM และ PFIH ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น และเงื่อนไขบังคับก่อนของสัญญาซื้อขายหุ้นเสร็จสิ้นลงทุกข้อ ทั้งนี้ เงื่อนไขบังคับก่อนที่สำคัญดังนี้
FFM และ PFIH ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และที่ประชุมผู้ถือหุ้น ของ FFM และ PFIH ให้เข้าทำธุรกรรมฯ และดำเนินการต่างๆตามสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อให้ธุรกรรมฯสำเร็จลุล่วง
นายวราห์ สุจริตกุล ซึ่งเป็นกรรมการตัวแทนของบริษัทฯ ใน FSS ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้แก่ FSS โดยให้มีผลนับแต่วันที่ธุรกรรมฯเสร็จสมบูรณ์
PFIH ได้รับอนุมัติวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือ บุคคลอื่น สำหรับการชำระราคาหุ้นให้ FFM และสำหรับการเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ FSS
ทั้งนี้ PFIH จะต้องวางเงินมัดจำสำหรับการชำระราคาหุ้น 50% ของราคาหุ้นทั้งหมดให้แก่ FFM ในวันที่เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น และจะต้องชำระราคาหุ้นที่เหลือทั้งหมดให้แก่ FFM ในวันที่ธุรกรรมฯเสร็จสมบูรณ์
ขณะที่ FNS ระบุว่า เนื่องจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ FSS มีความผันผวนมากขึ้น ในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่การเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัทจึงพิจารณาจำหน่ายเงินลงทุนใน FSS ทั้งนี้ การเข้าทำธุรกรรมฯจะทำให้บริษัทได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนในการชำระหนี้ ลงทุนธุรกิจอื่นที่บริษัทให้ความสนใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน