SMEs มีเฮ!
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต่อยอดโครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลนเฟส 2 อนุมัติเงินกู้ แบบง่าย รวดเร็วให้ SMEs ทั่วไทย
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต่อยอดโครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลน หลังจากเฟสแรกที่ได้ทำสำเร็จไป เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา มี SMEs รายย่อยในเครือข่ายของสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยให้ SMEs มีแต้มต่อในการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เล็งเห็นว่ายังมี SMEs รายย่อยอีกจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพและต่อยอดการทำธุรกิจ ดังนั้น สมาคมฯ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย NITMX หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมต่างๆ ในเครือข่ายทั่วประเทศ สร้างแพลตฟอร์ม Digital Supplychain Finance ซึ่งจะช่วยทำให้การพิจารณาสินเชื่อของ SMEs ได้รับอนุมัติได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs และเกษตรกรไทยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็น การดำเนินการเฟส 2 ต่อจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลนในเฟสแรก ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการภายใน เดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ การสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องการให้สินเชื่อ Soft Loan ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษอย่างต่อเนื่องถือเป็นส่วนสำคัญ
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า "ปัญหาที่สำคัญที่สุด และต้องเร่งแก้ไขในตอนนี้คือ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ซึ่งเราทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะ SMEs รายย่อย เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการการเสริมสภาพคล่องมากที่สุด เข้าถึงแหล่งเงินทุนยากที่สุด มีความเสี่ยงที่จะไปกู้เงิน นอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยสูงและยอดวงเงินจำกัด เพราะ SMEs เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นตัวหรือเชิดหัวขึ้นได้เลย หาก SMEs ในภาคการค้าและบริการไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน SMEs ในกลุ่มการค้าและบริการมีบทบาทสำคัญ ในการจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งสามารถที่จะพัฒนาไปสู่ภาคการส่งออกที่จะนำรายได้หลักเข้าสู่ประเทศ จึงมีความสำคัญต่อระบบเศษฐกิจไทยอย่างมหาศาล เปรียบเสมือนกระดูก สันหลังของเศรษฐกิจไทย ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในภาคการค้าและบริการนี้ มี SMEs อยู่ในระบบกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็น 45% ของ SMEs ทั้งประเทศ มีการจ้างงานเกือบ 10 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13 % ของ GDP การบริโภค ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการเติบโตของ SMEs ในภาคการค้าและบริการ นี่คือเหตุผลหลักที่ทำไมทุกภาคส่วนถึงต้องให้ความช่วยเหลือกับ SMEs ในภาคการค้าและบริการโดยเร่งด่วน"
โครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลนเฟส 2 นี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ผู้ซื้อ, ผู้ขาย และ สถาบันการเงิน สมาคมฯ เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ขายและสถาบันการเงิน เนื่องจากสมาชิกของสมาคมฯ ถือว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด เช่น กลุ่มซีพี, โฮมโปร, อินเด็กซ์, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์, เซ็นทรัล รีเทล, โลตัส, บิ๊กซี, ดูโฮม, ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป, ธนพิริยะ, ริมปิง และแสงไทยแพร่ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ซื้อดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าและการจ่ายเงินของผู้ขายที่ได้รับ ความยินยอมแล้ว เข้าไปไว้บน Platform เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้เป็นหลักฐานการประกอบ การพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งเป็นข้อมูลที่โปร่งใส ครบถ้วน ตรวจสอบง่าย ทำให้การอนุมัติสินเชื่อสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยอาศัยเครดิตของผู้ซื้อรายใหญ่
"โครงการในเฟส 2 นี้ถูกคิดขึ้นมาจากหลักการที่ว่า "More Inclusive, More Choices and Better for Everyone" โดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามายกระดับระบบที่มีอยู่ ให้สามารถช่วยเหลือ SMEs รายย่อยให้ได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุนและอำนาจต่อรองให้ SMEs มากขึ้น และทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ในดอกเบี้ยที่ถูกลง สถาบันการเงินเองก็จะได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ เพราะจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้สะดวกและรวดเร็ว ด้วยต้นทุนต่ำ มีความเสี่ยงหนี้เสียน้อยลง และตรวจสอบ ป้องกัน การให้สินเชื่อซับซ้อน (Double Invoicing) ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหา ช่วยให้ SMEs ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องแหล่งเงินทุน เพิ่มสภาพคล่อง ขยายการดำเนินธุรกิจ และเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SMEs ไทย เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคการค้าและบริการ ที่จะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังไม่หยุดที่จะหาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในโลกดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมาคมฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำแบบสำรวจแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ SMEs เพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ และเงื่อนไขการขอสินเชื่อที่ตรงตามความต้องการของ SMEs ในอนาคตแห่งโลกดิจิทัลหลัง COVID -19 อีกด้วย" นายญนน์ กล่าวปิดท้าย