นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ร่วมกับบมจ.โกล. เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ และ
ระบบขับเคลื่อนเรือโดยสารไฟฟ้า
"ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด หนึ่งในบริษัทในกลุ่มสุภัทรา มีนโยบายส่งเสริมการลดใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดมลภาวะทางอากาศ และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้าจึงเป็นเป้าหมายหลักที่กลุ่มบริษัทฯ ต้องการที่จะพัฒนา และปรับรูปแบบมาใช้เรือโดยสารไฟฟ้าในการให้บริการมากขึ้น โดยการลงนามความร่วมมือกับ GPSC นับเป็นก้าวสำคัญที่บริษัทฯ จะได้เริ่มต้นพัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้าอย่างจริงจัง" นางสุภาพรรณ กล่าว
การพัฒนาครั้งนี้จะใช้แบตเตอรี่ลิเธียมอิออน ที่ศึกษาโดย GPSC เป็นแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพซึ่งผลิตในประเทศไทย นำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในเรือไฟฟ้า รุ่น Water Limousine ของ เรือด่วนเจ้าพระยา ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการออกแบบ อย่างไรก็ตามในอนาคตบริษัทฯ มีแผนขยายผลไปสู่เรือโดยสารไฟฟ้ารุ่นอื่น ๆ ของเรือด่วนเจ้าพระยา และในกลุ่มสุภัทรา เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดี ด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่า ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ผ่านมามีโครงการการดำเนินงานพัฒนายานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้า หลากหลายโครงการ ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้กับตัวเรือและท่าเรือ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่เรือโดยสารไฟฟ้าที่ร่วมมือระหว่างบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และ GPSC นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอบโจทย์การลดใช้เชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และมองเห็นผลที่จะสามารถพัฒนาไปยังโครงการต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง ในการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนสอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาการจราจรทางบก ลดมลภาวะ ให้เกิดการขับเคลื่อน ส่งเสริมนำเรือพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในระบบการคมนาคมขนส่งทางน้ำอย่างเต็มรูปแบบและเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านนางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บมจ.โกล. เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการมุ่งมั่นลดมลภาวะทางอากาศและทางเสียง เพื่อเสริมสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชนทางน้ำของประเทศไทย ผ่านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนทางน้ำของไทย บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา เพื่อพัฒนาเรื่องไฟฟ้าสำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำเจ้าพระยาและช่องทางการสัญจรทางน้ำต่าง ๆ ในประเทศไทย
ด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกันนี้ จึงนำมาสู่ความร่วมมือใน "โครงการพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อนเรือโดยสารไฟฟ้า" ระหว่าง GPSC และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา เพื่อนำ "G-Cell" แบตเตอรี่ลิเธียมฯ ที่มีความปลอดภัยและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้งานกับเรือและบริการที่มีคุณภาพจากกลุ่มสุภัทรา เพื่อเริ่มต้นทดลองให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยเริ่มจากรุ่นแรก Water Limousine ก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือเชิงพาณิชย์ในรุ่นต่าง ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบ SemiSolid ของ GPSC และ 24M ที่ได้รับความไว้วางใจจาก ผู้ประกอบการระดับโลกอย่าง Volkswagen, Kyocera, AXXIVA และ Freyr ในการนำมาผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมฯ จึงมั่นใจได้ว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่ง Milestone ที่สำคัญในการนำนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อสรรสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานงานในรูปแบบใหม่ เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานของประเทศในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในระดับอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง หน่วยงานรัฐ และเอกชน อาคาร สำนักงาน ฯลฯ ต่อไป