ผู้เขียน หัวข้อ: เศรษฐกิจไทยรับมือกับการระบาดรอบสี่ได้แค่ไหน  (อ่าน 332 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังการระบาดของไวรัสโควิด19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก พร้อมความกังวลว่าจะแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งกดดันบรรยากาศการท่องเที่ยว การใช้จ่าย และการลงทุน รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก สำนักวิจัยฯ จึงเตรียมตั้งคำถามว่า การระบาดของโอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงไร


สำนักวิจัยฯ ยังไม่ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจากที่เคยให้ไว้ที่ 3.8% เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน แต่มองว่าการระบาดของสายพันธุ์ใหม่นี้นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย ส่วนจะกระทบมากน้อยเพียงใด และกระทบภาคส่วนใดทางเศรษฐกิจ ได้ประเมินการเติบโตของ GDP ไทยออกเป็น 3 แนวทาง

1. โอมิครอนไม่ระคาย GDP ไทยโตได้ 3.8%ตามคาด - หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่เร่งขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้จนไม่ต้องมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การบริโภคสินค้าและบริการอาจชะลอในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม ขนส่งคน อาหาร และเครื่องดื่ม แต่น่าจะฟื้นตัวได้ภายในหนึ่งถึงสองเดือน คล้ายการระบาดรอบสองที่ผ่านมา นอกจากนี้ อาจเห็นการเปลี่ยนความคิด จากไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ เป็นการต้องอยู่ร่วมกับโควิด จึงไม่มีการปิดเมือง หรือจำกัดการเดินทางและการใช้จ่ายใดๆ และต้องติดตามว่าสายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพเท่าสายพันธุ์เดลต้า เพียงแต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

2. ไม่ล็อกดาวน์แต่กระทบภาคบริการไตรมาสแรก GDP ไทยทั้งปีโตเฉียด 3% - แม้ไม่มีการออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด แต่การที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค และจะยิ่งส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์น่าจะคล้ายช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่การใช้จ่ายแผ่วลง แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวจากไตรมาสก่อนได้ ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและการส่งออก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบนอกเหนือจากภาคบริการและการท่องเที่ยวเดินทางแล้ว กลุ่มการบริโภคที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นผู้บริโภคและแนวโน้มเสถียรภาพการจ้างงาน เช่น รถยนต์ เสื้อผ้าและ เฟอร์นิเจอร์ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย


3. โอมิครอนลามภาคการผลิต ห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน GDP ไทยเสี่ยงต่ำ 3% - หากปัญหาการระบาดลากยาวและรุนแรงจนส่งผลให้คนงานล้มป่วยหรือต้องมีมาตรการจำกัดจำนวนคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานจนกำลังการผลิตลดลง กระทบภาคการลงทุน อีกทั้งปัญหานี้กระจายไปยังประเทศต่างๆ จนโรงงานผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสำคัญต้องหยุดชะงัก มีผลให้ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสำคัญๆ ต้องพลอยชะงักงันไปด้วย เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป เช่น ไก่แปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งจะกระทบการส่งออกของไทยอีกทอดหนึ่ง แม้กำลังซื้อในต่างประเทศจะไม่ทรุดตัวก็ตาม เนื่องจากขาดแคลนสินค้าส่งออก อีกทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูงยังกดดันการค้าโลกต่อเนื่องได้ นอกจากภาคการผลิตแล้ว ภาคการก่อสร้างก็เสี่ยงชะลอตัวจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน หรือมาตรการจำกัดคนในพื้นที่ ซึ่งรวมทั้งการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน สำนักวิจัยฯ มองว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2565 จะดีกว่าปี 2564 อย่างน้อยคนไทยมากกว่า70% ได้รับวัคซีนไปแล้ว และกำลังเดินหน้ารับเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง อีกทั้งคนไทยได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับไวรัสนี้ได้ดีกว่าเดิม

โดยสรุป การระบาดของโอมิครอนน่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนชะลอตัวชั่วคราวในช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังต่ำกว่าระดับหนึ่งหมื่นรายต่อวัน การเกิดเวฟสี่เช่นนี้ก็ไม่น่ากระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง และอาจเห็นการบริโภคเร่งขึ้นหลังความเชื่อมั่นฟื้น หรือเกิด pent-up demand โดยเฉพาะเมื่อคนไทยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นกันอย่างทั่วถึง และยอดผู้ติดเชื้อลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างชาติอาจลดลงกว่าที่คาดบ้าง แต่ไม่ได้คาดหวังมากนักจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรก เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวจะมามากกว่าหนึ่งล้านคนต่อไตรมาสในช่วงไตรมาสสามเป็นต้นไป ขณะที่จำนวนหลักแสนในช่วงไตรมาสแรกอาจลดลงบ้างก็ไม่น่ากระทบเศรษฐกิจไทยมาก ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการทางการคลังน่าจะพอพยุงกำลังซื้อได้ และเม็ดเงินราวสามแสนล้านบาทอาจหยิบมาใช้ได้ในช่วงแรกของการระบาด และหากยืดเยื้อก็สามารถกู้เพื่อพยุงเศรษฐกิจได้ ส่วนมาตรการทางการเงินก็น่าจะผ่อนคลายต่อเนื่องด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.50%ต่อปี และเร่งปล่อยซอฟท์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจขนาดเล็กและผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบนี้ โดยการส่งออกสินค้าน่าจะยังคงเป็นแรงพยุงเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง อีกทั้งกำลังซื้อระดับกลาง-บนน่าจะยังแข็งแรงอยู่ เพียงรอความเชื่อมั่นและแรงจูงใจให้ใช้จ่ายจากมาตรการรัฐ ส่วนการท่องเที่ยวจากต่างชาติน่าจะยังเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง