นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการวิเคราะห์เพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์ MSME (Micro, Small & Medium Enterprises) ปี 2564 พบว่า
มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในรอบปีเปรียบเทียบกับปี 2563 คาดว่า GDP MSME จะขยายตัวร้อยละ 2.4 หรือมีมูลค่ารวม 5.49 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.6 ของ GDP รวมของประเทศ สาขาธุรกิจที่ GDP MSME มีการขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจด้านความบันเทิงและนันทนาการ รองลงมาคือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านการศึกษา ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ยังคงลดลง
"การฟื้นตัวของ MSME ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และต่อเนื่องถึงปี 2565 ปัจจัยบวกมาจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ครบจำนวน 100 ล้านโดสตามเป้าหมาย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยงช่วงสิ้นปี ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแม้ยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนล็อกดาวน์ก็ตาม แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือการแพร่ระบาดของโอมิครอนว่าจะมีสถานการณ์รุนแรงอย่างไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะจะส่งผลกับนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วย นอกจากนี้การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมีทิศทางดี โดยคาดว่าหากสามารถรับมือการแพร่ระบาดได้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
ในส่วนสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของ MSME มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการส่งออกในรอบปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 20.0 เมื่อพิจารณาในช่วง 11 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ย.) MSME มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 915,211.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ
ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของ MSME ขยายตัวทุกตลาดโดยเฉพาะจีนที่มีการขยายตัวสูงคิดเป็นร้อยละ 42.5 ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 8.4 9.0 12.6 และ 14.4 ตามลำดับ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ร้อยละ 50.0 รองลงมาคือ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัวร้อยละ 34.7 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มไม้และของทำด้วยไม้ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และผลไม้สด ขยายตัวระหว่างร้อยละ 16.5 - 32.3
ส่วนการนำเข้าของ MSME ช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ย.) มีมูลค่า 1,030,688.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของประเทศ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า
ในด้านจำนวนกิจการและการจ้างงานของ MSME จากข้อมูลของระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม ในรอบปี 2564 เป็นต้นมา แม้จะหดตัวลงตามวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่นับตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมา สถานการณ์กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกิจการ MSME เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 6.35 หรือมีจำนวนรวม 421,525 แห่ง ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 เป็นต้นมา เช่นเดียวกับจำนวนการจ้างงาน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.47 หรือมีจำนวนการจ้างงานรวม 4,110,021 คน และหากไม่มีผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการและจำนวนการจ้างงานเข้าระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น
"สถานการณ์ ของ MSME ในปี 2565 หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โอมิครอนได้คาดว่า GDP MSME จะเติบโตระหว่างร้อยละ 3.2 ? 5.4 หรือมีมูลค่าประมาณ 5.669 - 5.789 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของเศรฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 - 40 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 0.59 ล้านล้านบาท คาดว่าธุรกิจในภาคบริการจะเติบโตระหว่างร้อยละ 3.4 ? 5.8 และธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจให้ความบันเทิง (สันทนาการ) ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจแปรรูปยางพารา" ผอ.สสว. กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ อย่างช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง มาตรการลดภาระผู้ประกอบการ/ประชาชน รวมถึงมาตรการทางการเงิน ในโครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน กระตุ้นให้เกิดการบริโภค การค้า การลงทุน ช่วยลดต้นทุนรวมถึงค่าใช้จ่ายส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ MSMEs รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อไป