ผู้เขียน หัวข้อ: ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนปี 65-67  (อ่าน 401 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • *
  • กระทู้: 861
  • Popular Vote : 0
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนปี 65-67
« เมื่อ: มกราคม 13, 2022, 02:52:29 am »
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนปี 65-67 "เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่" เดินหน้าสร้างตลาดทุนปัจจุบันควบคู่กับโลกอนาคต

ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2565-2567) ภายใต้แนวคิด "เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่" เดินหน้าสร้างตลาดทุนปัจจุบันควบคู่กับโลกอนาคต เชื่อมมิติการลงทุนและมิติความยั่งยืนของภาคธุรกิจและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เผยเตรียมเปิด "ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย" (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และ "ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์" (LiVE Exchange) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ได้ร่วมเป็นเจ้าของ พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ตอบรับวิถีใหม่ของผู้ประกอบการในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังมุ่งเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจสอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและขยายไปยังอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มโอกาสการลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงตลาดทุนโลกเพื่อให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ด้านสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมทักษะทางการเงินของคนไทย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในชีวิตวิถีใหม่ ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) ร่วมขยายความรู้ไปสู่สังคมมากขึ้น พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสิ่งแวดล้อม

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดมั่นวิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market 'Work' for Everyone" มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนกลยุทธ์ 3 ปีต่อจากนี้ (2565-2567) จะขยายสู่การเชื่อมโยงการลงทุนโลกปัจจุบันควบคู่ไปกับโลกอนาคต ให้เป็นแหล่งรวมการลงทุนของประเทศ พร้อมส่งเสริมทักษะทางการเงินของคนไทยเพื่อคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศ ผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน 1) เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน 2) พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ และ 3) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย

1) เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน ด้วยการส่งเสริมการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นจดทะเบียนใหม่แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัทที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง และการจดทะเบียนของบริษัทจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ด้วยการต่อยอดจาก LiVE Platform ไปสู่ LiVE Exchange โดยคาดว่าจะเปิดซื้อขายภายในไตรมาส 1 ปี 2565 พร้อมยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนโดยการบ่มเพาะให้เป็น ESG Investment Stars สนับสนุนให้บริษัทขนาดกลางและเล็ก นำแนวคิดด้าน ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในตลาดทุน เพิ่มการเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นด้วยกระบวนการเปิดบัญชีที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ลงทุนบุคคลใช้เทคโนโลยีช่วยในการซื้อขาย ตอบโจทย์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำน้อย รวมทั้งเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ETF DR DW และ Fractional Product ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ซื้อขายได้ต้นไตรมาส 3 ของปีนี้

2) พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ โดยการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ ยกระดับการบริหารจัดการผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนแบบครบวงจรผ่านรูปแบบดิจิทัล พร้อมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำหรับการลงทุนในหุ้นยั่งยืน รวมถึงเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อเชื่อมต่อการซื้อขายจากสินทรัพย์ในปัจจุบันไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ภายในไตรมาส 3 ปี 2565

3) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย ผ่านการส่งเสริมและการศึกษาด้าน ESG โดยการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่หลักสูตรที่เป็นมาตรฐานด้าน ESG ส่งเสริมทักษะทางการเงินให้เป็นส่วนหนึ่งในทักษะชีวิตของคนไทยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ อาทิ โครงการ Happy Money เพิ่มจำนวนพันธมิตรในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศผ่านโครงการ Climate Care Platforms รวมถึงเพิ่มศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคม และสนับสนุนธรรมาภิบาลด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของตลาดทุนไทย

"เพื่อให้การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตมีความยืดหยุ่น สนับสนุนการแข่งขันในโลกการลงทุนยุคดิจิทัลตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และเปิดโอกาสให้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะสามารถสร้างโลกการลงทุนปัจจุบันควบคู่ไปกับโลกอนาคตได้อย่างไร้รอยต่อ ตอบโจทย์ทั้งผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน พร้อมเดินหน้าดูแลคนไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปพร้อมกัน" นายภากรกล่าว

สรุปพัฒนาการสำคัญและความสำเร็จปี 2564
สร้างการเติบโตให้กับตลาดทุน

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ IPO ที่ 4.54 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 7 ในเอเชีย และอันดับ 18 ของโลก
สภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2555 โดยปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.39 หมื่นล้านบาท
จำนวนบัญชีหุ้นเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 40% จากสิ้นปีก่อนหน้า ปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายหุ้นกว่า 5 ล้านบัญชี
มีเกณฑ์รองรับ IPO สำหรับ New Economy ตอบโจทย์การระดมทุนของรัฐในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายรัฐ
ได้รางวัล "ตลาดหลักทรัพย์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2564" (Best Stock Exchange Southeast Asia 2021) จากGlobal Banking and Finance Review และรางวัล "ESQR's Quality Achievements Award 2021" จากสถาบัน European Society for Quality Research (ESQR) สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในฐานะตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย
ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ

พัฒนาระบบซื้อขาย LiVE Exchange เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ
เชื่อมโยงสินค้าและบริการในตลาดโลก เช่น DR Linkage ไทย-สิงคโปร์, DW on DJSI, NASDAQ-100 Index และ Hang Seng Tech Index และอ้างอิงหุ้นในตลาดฮ่องกง
พัฒนาบริการ Streaming Fund+ ซื้อขายกองทุนรวมและสร้างแผนการลงทุน
FundConnext มีธุรกรรมซื้อขายกองทุนรวมมากกว่า 33,000 รายการต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 เท่า จากปี 2563
พัฒนาบริการ Digital Access Platform (DAP) โดยเป็น "NDID Proxy" ของตลาดทุน พร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานทางการ
สนับสนุนความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย

24 บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 8 และ 11 บริษัทไทย ติดอันดับ Gold class ของ S&P Global สูงสุดของโลก
ขยายพันธมิตรพัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการ เช่น NIA ปัญญาภิวัฒน์ และ Expara Thailand
สร้างการเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยผ่านโครงการ Happy Money, AOM YOUNG และ INVESTORY Mobile Exhibition on Schools
เดินหน้าลดโลกร้อน Climate Care Platforms โดยมีบริษัทเข้าร่วมมากกว่า 300 บริษัท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารให้เป็นศูนย์ (carbon neutral)
ออกมาตรการลดผลกระทบจาก COVID-19 ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย