ความกังวลเกี่ยวกับ
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกดดัน KR-ECI เดือนธ.ค.64 ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 เดือนติดต่อกัน
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นยังคงกดดันภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนธ.ค.64 ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลเกี่ยวกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น เช่น การตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดช่วง 25 ธ.ค. 64 - 4 ม.ค.65 ส่งผลให้มุมมองเกี่ยวกับราคาพลังงานของครัวเรือนปรับดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดที่มีน้ำหนัก 20.7% ในตระกร้า เงินเฟ้อยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนธ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 0.56%YoY โดยเฉพาะราคาผักสด อาหารสด เช่น ราคาสุกร ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าเดือนธ.ค. 64 ลดลงอยู่ที่ 33.9 และ 36.0 จาก 34.7 และ 36.5 ในเดือนพ.ย. เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาอาหารและเครื่องดื่ม โดยดัชนีราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มลดลงติดต่อกัน 3 เดือนต่อเนื่องและในเดือนธ.ค.ลดลงถึง 17.4% บ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นสร้างความวิตกกังวลให้กับภาคครัวเรือนอย่างมาก แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะยังมีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง หรือ มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้
สถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังไม่มีแนวโน้มบรรเทาลงในระยะเวลาอันใกล้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอน แต่ปัญหาทางด้านภาวะอุปทานน้ำมันยังคงมีอยู่ เช่น ประเทศในสมาชิกกลุ่มโอเปกบางส่วนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามที่โควต้าจากปัญหาภายในประเทศ ขณะที่บางส่วนเกิดขึ้นจากปัญหาเฉพาะตัวของสินค้า เช่น ราคาสุกร ที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังสินค้าทดแทนอื่น ๆ อย่างเนื้อไก่ให้ปรับขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังได้มีมติทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) โดยรอบเดือนม.ค.-เม.ย.65 จะเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปกติ สถานการณ์ดังกล่าวจะเข้ามากดดันค่าครองชีพของครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อยังมีแนวโน้มเปราะบาง ด้านตลาดแรงงานยังเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนที่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรการเข้มงวดในการคุมเข้มการระบาด แต่สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่
ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะเข้ามาฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการระบาดของโอมิครอน ดังนั้น การเร่งสร้างความเชื่อมั่นจากภาครัฐเกี่ยวกับการจัดการควบคุมโรค และมาตรการบรรเทาค่าครองชีพอย่างตรงจุด รวมถึงมาตรการตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของครัวเรือนจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ธ.ค.64) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นกดดันให้ค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้นซึ่งยิ่งทำให้กำลังซื้อที่เปราะบางอยู่แล้วเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่อง ภาครัฐควรมีมาตรการที่แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน