ดอลลาร์ปรับตัวแคบเทียบสกุลเงินหลัก ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในคืนนี้
ณ เวลา 19.53 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.01% สู่ระดับ 95.63 ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.08% สู่ระดับ 131.13 เยน และอ่อนค่า 0.03% สู่ระดับ 1.136 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์แข็งค่า 0.12% สู่ระดับ 115.42 เยน
นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวจะแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนธ.ค.ในคืนนี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2525 จากระดับ 6.8% ในเดือนพ.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะพุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.9% ในเดือนพ.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค.
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวยืนยันว่า เฟดจะใช้ความพยายามในการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แม้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
"ห่วงโซ่อุปทานที่กลับสู่ภาวะปกติจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากเงินเฟ้อในปีนี้ แต่เฟดก็ไม่กลัวที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง" นายพาวเวลกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาวานนี้
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์