พาณิชย์ เผย 10 เดือนแรกปี 64 ไทยใช้สิทธิส่งออกภายใต้ GSP เพิ่มขึ้น 37%
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ภายใต้ระบบสิทธิ
พิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - ตุลาคม) มีมูลค่ารวม 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 30.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.92%
โดยไทยสามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นถึง 37.11% ในขณะที่การใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 3.64% รัสเซีย ลดลง 3.63% และนอร์เวย์ลดลง 14.49% ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ 1. สหรัฐอเมริกา (มูลค่า 2,808.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. สวิตเซอร์แลนด์ (มูลค่า 221.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3. กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (มูลค่า 108.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 4. นอร์เวย์ (มูลค่า 13.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และตลาดที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุดคือ 1. สหรัฐอเมริกา (67.47%) 2. กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (64.31%) 3. นอร์เวย์ (64.24%) และ 4. สวิตเซอร์แลนด์ (38.27%)
สินค้าสำคัญที่มีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่นๆ กรดซิทริก เป็นต้น และแม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ สิ้นสุดอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ GSP จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าจะมีการต่ออายุโครงการฯ แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิฯ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ GSP เพื่อนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการฯ ได้รับการต่ออายุแล้ว
สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) น้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (สหรัฐอเมริกา) อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) ปลาทูน่า ปลา สคิปแจ็กและปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช) เป็นต้น