ผู้เขียน หัวข้อ: สนับสนุนการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า  (อ่าน 358 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0
ข้อมูลใหม่สนับสนุนการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม

ผลลัพธ์เชิงบวกจากการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดลองเรื่องความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน (D7220C00001) แสดงให้เห็นว่าเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม สามารถเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เบตา เดลตา อัลฟา และแกมมา ในขณะเดียวกันอีกการวิเคราะห์หนึ่งที่ใช้ตัวอย่างการทดลองเดียวกันนี้ แสดงถึงการตอบสนองของแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

การทดลองนี้สังเกตผลลัพธ์ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนmRNA มาก่อนข้อมูลจากอีกการทดลองหนึ่งซึ่งเป็นการทดลองในระยะที่ 4 รายงานใน ระบบจัดเก็บเอกสารวิชาการก่อนการตีพิมพ์ออนไลน์ The Lancet, ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามนั้น สามารถเพิ่มระดับแอนติบอดีได้เป็นอย่างมากหลังจากที่ได้รับวัคซีน CoronaVac (Sinovac Biotech)1 มาก่อน

ข้อมูลเหล่านี้เพิ่มหลักฐานในการสนับสนุนว่าสามารถใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการได้รับวัคซีนก่อนหน้า 2,3 แอสตร้าเซนเนก้ากำลังส่งข้อมูลเพิ่มเติมเหล่านี้ไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม

เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า "วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าช่วยปกป้องผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกจากโรคโควิด-19 และข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม ซึ่งรวมถึงการใช้กับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนประเภทอื่นมาก่อน เนื่องด้วยความเร่งด่วนอย่างต่อเนื่องของโรคระบาด และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ เราจะดำเนินการยื่นขอทะเบียนอนุญาตทั่วโลกเพื่อนำวัคซีนตัวนี้มาใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม"

ศาสตราจารย์ เซอร์ แอนดริว เจ พอลลาร์ด ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบ Oxford Vaccine Group มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า "ผลการศึกษาที่สำคัญนี้แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม หลังจากที่ได้รับวัคซีนสองเข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA หรือวัคซีนเชื้อตาย ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดีเพื่อสู้กับโรคโควิด-19 วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ออกซ์ฟอร์ด - แอสตร้าเซนเนก้านั้นเหมาะที่จะเป็นทางเลือกที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับประชากรของหลายๆประเทศที่กำลังพิจารณาโปรแกรมการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อเป็นการเพิ่มป้องกันหลังจากที่ได้รับหลังได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม"

การทดลองเรื่องความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน D7220C00001 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้รับการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากการทดลองนี้คาดว่าจะเปิดเผยได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

จากการศึกษาก่อนหน้าสนับสนุนว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามได้ทั้งหลังการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันและต่างชนิดกัน2,3 การวิเคราะห์ย่อยของผลการทดลอง COV001 และ COV002 แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามหลังจากการได้รับวัคซีนครบสองเข็มไปแล้ว 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีและรักษาการตอบสนองของทีเซลล์ให้อยู่ในระดับคงที่2 การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่สามยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้วัคซีน 2 เข็ม2 การทดลอง COV-BOOST แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามจะเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมทั้งต่อสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์ดั้งเดิม ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ Pfizer BioNtech (BNT162b2)3 มาก่อน

หมายเหตุ
การทดลอง D7220C00001
D7220C00001 เป็นการทดลองที่มีการควบคุมอย่างถี่ถ้วนในผู้ใหญ่ทั้งที่เคยได้รับวัคซีน และยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน โดยเป็นการทดลองแบบสุ่ม ปกปิดสองทาง ในหลายประเทศ เพื่อให้ทราบถึงความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และ AZD2816 ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เบตา4

ข้อมูลการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับการวิเคราะห์เบื้องต้นมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามไปแล้ว 28 วัน ผู้ที่เข้าร่วมในการทดลองครั้งนี้รวมผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนสองโดส (700 คน) หรือผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน mRNA จำนวนสองโดส (600 คน) ก่อนที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ AZD2816 เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม โดยห่างจากการได้รับวัคซีนครั้งล่าสุดเป็นเวลา 3 เดือน

การทดลอง RHH-001 ระยะที่สี่
การทดลองระยะที่สี่โดยเป็นการทดลองแบบสุ่ม ปกปิดทางเดียว ที่สองศูนย์การทดลอง เพื่อประเมินเรื่องความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันของการใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามแบบต่างชนิดกันไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีน mRNA (BNT162b2, Pfizer/BioNTech) หรือการใช้วัคซีนอะดีโนไวรัล recombinant (AD26.COV2-S, Janssen) เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามแบบเป็นชนิดเดียวกันของ CoronaVac ในกลุ่มผู้ใหญ่ชาวบราซิลที่ได้รับวัคซีน CoronaVac จำนวนสองโดสไปเมื่อหกเดือนก่อนหน้า ในช่วงระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2564 มีผู้เข้าร่วม 1,240 คนในเซาเปาโล และซัลวาดอร์ ที่ได้รับการสุ่มให้ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 1,239 คนที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว

ผลลัพธ์หลักของการทดลองคือ การทดสอบที่แสดงความไม่ด้อยกว่าของระดับแอนติบอดี anti-spike IgG ที่ 28 วัน หลังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามแบบต่างชนิดกันเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามแบบชนิดเดียวกัน

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) เดิมเรียก AZD1222
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกคิดค้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 90 ประเทศ และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 144 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์

ภายใต้ข้อสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วง (sub-license agreement) กับแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกผลิตและส่งมอบโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย โดยใช้ชื่อวัคซีนว่า COVISHIELD

เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.com และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca