BBL
โชว์กำไรสุทธิปี 64 โต 54.3% รับผลดีรายได้ดอกเบี้ยเพอร์มาตาหนุนเต็มปี
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ BBL รายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 64 เพิ่มขึ้น 54.3% จากปี 63 หรือมีกำไรสุทธิจำนวน 26,507 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาเต็มปี และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.10% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25.7% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากธุรกิจหลักทรัพย์ การอำนวยสินเชื่อและบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตาทั้งปี โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็น 50% นอกจากนี้ธนาคารได้พิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 34,134 ล้านบาท จากการพิจารณาปัจจัยผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงความไม่แน่นอนของความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง
ธนาคาร ยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องใช้เวลาและเตรียมพร้อมสำหรับการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,588,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากสิ้นปี 63 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลง 3.2% ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 225.8%
ด้านเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64 จำนวน 3,156,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้ายังคงต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 82%
นอกจากนี้ในเดือน ก.ย. 64 ธนาคารออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.6%, 16% และ 15.2% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
BBL ระบุว่า ภาพในปี 64 เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 3/64 ธุรกิจจำนวนมากในภาคบริการและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ในช่วงไตรมาส 4/64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทยอยลดลง และสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นตามลำดับ รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและตัดสินใจเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในช่วงปลายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว
สำหรับภาคการส่งออกของไทยมีการขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตทั่วโลก ในระยะข้างหน้า การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนและการกลายพันธุ์ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดขโควิด-19 รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการออกมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ประสบปัญหา พร้อมทั้งดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสมตามฐานวิถีชีวิตใหม่ภายหลังโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ พร้อมเข้าใจความต้องการและปัญหาของลูกค้า
ธนาคารเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สอดคล้องกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด-19 รวมถึงการปรับวิธีการดำเนินธุรกิจและการขยายธุรกิจเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้ทุกคนก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง