ผู้เขียน หัวข้อ: CIMBT แจงปี 64 กำไรโตพุ่ง 89.1% จากคุมค่าใช้จ่าย  (อ่าน 374 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • *
  • กระทู้: 931
  • Popular Vote : 0
CIMBT แจงปี 64 กำไรโตพุ่ง 89.1% จากคุมค่าใช้จ่าย-ผลขาดทุนด้านเครดิตฯลดลง

นายพอล วอง ชี คิน สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่ม CIMBT ในปี 64 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89.1% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิปี 63 เนื่องจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.7%

แม้ว่ารายได้จากการดำเนินงานจะมีจำนวน 14,347.4 ล้านบาท ลดลง 579.7 ล้านบาท หรือลดลง 3.9% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 63 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 988.5 ล้านบาท หรือลดลง 9% เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้ออันเนื่องมาจากการขยายตัวของสินเชื่อลดลง กับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 337.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.9% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 71.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.6% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 63 ลดลง 723.3 ล้านบาท หรือลดลง 8.1% เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.64 อยู่ที่ 57% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 63 อยู่ที่ 59.6%

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin ? NIM) สำหรับปี 64 อยู่ที่ 3.1% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 63 อยู่ที่ 3.2% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 64 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 211.9 พันล้านบาท ลดลง 6.6% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ขณะที่กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 233.1 พันล้านบาท ลดลง 7.1% จากสิ้นปี 63 ซึ่งมีจำนวน 250.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 90.9% จาก 90.5%

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.7% ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 อยู่ที่ 4.6% สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 64 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 64 อยู่ที่ 117.5% เพิ่มขึ้นจากปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 93.3% โดยค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.3 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท ส่วนเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธ.ค. 64 มีจำนวน 54.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 22.4% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.3%