ผู้เขียน หัวข้อ: เอกชน ลุ้นส่งออกอาหารปี 65 ฝ่าเงินเฟ้อทำนิวไฮ  (อ่าน 393 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0
เอกชน ลุ้นส่งออกอาหารปี 65 ฝ่าเงินเฟ้อทำนิวไฮ 1.20 ล้านลบ. โต 8.4%

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล โดยมองว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 65 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก

1. ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากประชากรโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากขึ้น ความอันตรายของโรคลดต่ำลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะ +4%

2. ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 เริ่มลดลง ประเทศต่างๆ มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น

3. เงินบาทอ่อนค่า โดยคาการณ์ไว้ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารเป็นสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลักจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยคาดว่าราคาอาหารโลกจะอยู่ที่ +3.5%

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบัน จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจขึ้นไปแตะที่ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ หรือปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

1. ราคาวัตถุดิบภาคเกษตร บรรจุภัณฑ์ น้ำมัน เพิ่มสูงขึ้นมาก กระทบต่อต้นทุนการผลิต และขนส่งของภาคอุตสาหกรรมอาหาร

2. การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศ จึงกระทบต่อการเพิ่มผลผลิตและรับคำสั่งซื้อ

3. กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางและระดับล่าง อ่อนตัวลงจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งปัจจัยด้านเงินเฟ้อน่าจะมีบทบาทมากที่สุด ในการกดดันภาคอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากจะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง

สำหรับสินค้าส่งออกหลัก 10 กลุ่มสินค้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสินค้า ดังนี้

-กลุ่มขยายตัวสูง (มูลค่าส่งออกขยายตัวมากกว่า 10%) ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว (+11.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+12.7%), น้ำตาลทราย (+17.5%), กุ้ง (+12.3%) และสับปะรด (+10.2%) โดยข้าวขยายตัวดีจากเงินบาทอ่อนค่า และคาดว่าราคาส่งออกข้าวในปี 65 จะทรงตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

ส่วนปลาทูน่ากระป๋องได้รับแรงหนุนจากเงินเฟ้อ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง อาหารบรรจุกระป๋องจะได้รับประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนน้ำตาลทรายจะเริ่มฟื้นตัวตามอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลุ่มประเทศ CLMV ขณะที่กุ้งและสับปะรดได้รับปัจจัยหนุนจากการพื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว บริการร้านอาหาร และโรมแรม

-กลุ่มขยายตัวปานกลาง (มูลค่าส่งออกขยายตัวมากกว่า 5% แต่ไม่ถึง 10%) ประกอบด้วย 4 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (+6.2%), มะพร้าว (+6.4%), เครื่องปรุงรส (+7.9%) และอาหารพร้อมรับประทาน (+9.7%) กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่โดดเด่นและมีศักยภาพของไทย แนวโน้มการเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยแป้งมันสำปะหลังเด่นตรงที่เป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพง ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ทั้งนี้ มีตลาดหลัก คือ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ที่ระยะทางในการขนส่งไม่ไกล จึงมีศักยภาพในช่วงที่ต้นทุนค่าขนส่งสูง ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (กะทิสำเร็จรูป) และเครื่องปรุงรส โดดเด่นจากการเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย (Authentic) ขยายตัวตามความนิยมอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่วนน้ำมะพร้าวของไทยมีรสชาติหอมหวาน มีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมชาติ จึงเหมาะกับเทรนด์สุขภาพ ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานเติบโตสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวก โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทานเมนูไทยที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ

-กลุ่มขยายตัวต่ำ (มูลค่าส่งออกขยายตัวมากกว่า 5%) คือ การส่งออกไก่ (+3.8%) ที่ได้รับผลกระทบจากตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น (ตลาดส่งออกไก่ 50% ของไทย) ที่ยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารฟื้นตัวช้า กระทบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทย

นางอนงค์ กล่าวถึงสถานการณ์ปี 64 ว่า การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากความกังวลโควิด-19 คลายตัวลง ประเทศคู่ค้าผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลทำให้สินค้าส่งออกที่มีตลาดในกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารและโรงแรมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก

ในส่วนของการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 64 มีมูลค่า 1,107,450 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.8% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออก 34,890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.5% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.30% จาก 2.32% ในปี 63 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 64 เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น สหรัฐฯ แอฟริกา โอเชียเนีย และสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 24.5% มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.0% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ CLMV และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 มีสัดส่วนส่งออก 12.4% และ 11.5% ตามลำดับ โดยการส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึง 219.7% จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และแอฟริกาลดลงจากสินค้าทูน่ากระป๋องและข้าวเป็นสำคัญ

นางอนงค์ กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี คือ ราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 64 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารมีมูลค่าส่งออก 506,970 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.5% หรือมีสัดส่วน 45.8% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม จากสัดส่วน 40.8% ในปีก่อน ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 600,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% หรือมีสัดส่วนส่งออก 54.2% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม จากสัดส่วน 59.2% ในปีก่อน

สำหรับกลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (34.3%), กุ้ง (+10.8%), ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+7.7%), เครื่องปรุงรส (13.3%), อาหารพร้อมรับประทาน (+7.7%) และสับปะรด (31.5%) ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของธุรกิจบริการร้านอาหาร หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (-7.1%), ไก่ (-1.7%), ปลาทูน่ากระป๋อง (-18.3%) และน้ำตาลทราย (-13.2%)

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขภาคการส่งออกปี 64 ที่ไม่ตรงกับที่กระทรวงพาณิชย์แถลงก่อนหน้านี้ เนื่องจากองค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารทั้ง 3 แห่ง จะไม่รวมสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง มันเส้น และยางพารา อย่างไรก็ดี การส่งออกที่มีมูลค่าสูงในปี 64 กว่า 90% มาจากสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สด เป็นต้น

สำหรับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าทั่วโลกรวมทั้งไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และราคาถ่านหิน และน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และการขนส่ง ต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้น

"สินค้าทุกอย่างขึ้นยกแผงหมด เช่น น้ำมัน ถ่านหิน รวมทั้งค่าแรงก็ขึ้นด้วย แต่เป็นค่าแรงแฝงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการลดความหนาแน่นในโรงงาน ค่าใช้จ่ายในการกักตัว และค่าขนส่ง ในส่วนของราคาอาหารน่าจะปรับขึ้นตามกลไกของมัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการก็อยู่ระหว่างพยายามสู้กับราคา และรัฐก็พยายามออกมาตรการตรึงต้นทุนแล้ว แต่หากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อก็จะย้อนกลับมาส่งผลกระทบเป็นวัฎจักร" นายพจน์ กล่าว
ดังนั้น รัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารให้มากขึ้น เช่น จะต้องผลักดันการทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) เนื่องจากไทยเสียสิทธิ์การส่งออกให้ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม ในขณะเดียวกัน รัฐควรผลักดันการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบกับสินค้าเกษตรของไทย เพื่อนำมาแปรรูป และส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าแปรรูปได้

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่หอการค้ามองว่า จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก คือ ค่าเงินบาทซึ่งถือเป็นตัวแปรสุดท้ายในการช่วยลดต้นทุน โดยหากเงินบาทไม่ถึง 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่ากว่า 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก

นายพจน์ ยังได้กล่าวถึงการส่งออกสุกรว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกสุกรตัวเป็นๆ จำนวนน้อย และขณะนี้รัฐก็ออกมาตรการห้ามส่งออก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมาก ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์หมูแปรรูปก็ยังทำตลาดได้ไม่มาก จึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสุกร อาจต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิต จากการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศอื่นๆ มากขึ้นด้วย

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรคต่อการส่งออกในปี 65 ว่า ผู้ประกอบการ และรัฐ จะต้องปรับตัว และควบคุมต้นทุนต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น การนำเครื่องจักรมาใช้ในการทำงาน การควบคุมไม่ให้ดอกเบี้ยขึ้นสูงเกินไป รวมถึงการให้โอกาสผู้ประกอบการ SME ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตที่สำคัญ อย่างค่าไฟฟ้า และค่าธรรมเนียมต่างๆ รัฐก็สามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้

"เอกชนพยายามควบคุมราคาแล้ว แต่ต้องให้รัฐเข้ามาช่วยด้วย อย่างเรื่องเล็กๆ เช่น Digital Transform ลดการใช้เอกสาร และไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปดำเนินการเรื่องต่างๆ ที่สถานที่ราชการ เป็นต้น" นายวิศิษฐ์ กล่าว