ผู้เขียน หัวข้อ: ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย  (อ่าน 375 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ deam205

  • *
  • กระทู้: 1,097
  • Popular Vote : 0
ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ 'A+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)'

การคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCC สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งของ SCC ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทฯ จะมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.8 เท่า ในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 3.5 เท่าในปี 2566 หลังจากที่โครงการปิโตรเคมีที่ประเทศเวียดนาม (Long Son Petrochemicals: LSP) เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

EBITDA ที่แข็งแกร่ง - ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7-8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2564-2566 ปี (2563: 6.3 หมื่นล้านบาท) จาก ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (spreads) ในธุรกิจเคมิคอลส์ที่อยู่ในระดับสูง ในปี 2564 ฟิทช์เชื่อว่าอัตราการเติบโตจากการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งและการฟื้นตัวของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง รวมถึงการเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการ LSP ในปี 2566 จะเป็นปัจจัยสนับสนุน EBITDA ของ SCC ในปี 2565-2566 ซึ่งจะช่วยชดเชย EBITDA ของธุรกิจเคมิคอลส์ที่อาจจะลดลงตามการลดลงของ spreads เนื่องจากกำลังการผลิตในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้น - ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของ SCC จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สิน FFO net leverage ของ SCC เพิ่มขึ้นสูงกว่า 3.5 เท่า ชั่วคราวในปี 2565 ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดที่ยังสอดคล้องกับอันดับเครดิต 'A+(tha)' ของบริษัทฯ (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 2.9 เท่า) ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.2 เท่าในปี 2566 โดยการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินน่าจะได้รับการสนับสนุนจาก กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) ที่แข็งแกร่งประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ LSP ในเวียดนาม

การฟื้นตัวของซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง: ฟิทช์คาดว่ารายได้และ EBITDA ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของ SCC จะฟื้นตัวในปี 2565 หลังจากการลดลงในปี 2564 ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและต้นทุนถ่านหินที่สูงขึ้นอย่างมาก การฟื้นตัวของธุรกิจเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มผ่อนคลาย และรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนถ่านหินที่คาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ SCC น่าจะได้รับประโยชน์จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องไปยังการให้บริการแบบครบวงจรในลักษณะโซลูชั่น และการค้าปลีกสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของรายได้จากสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (high-value-added หรือ HVA) และมาตรการลดต้นทุนก็มีส่วนช่วยให้กระแสเงินสดของธุรกิจปรับตัวดีขึ้น

การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น - ฟิทช์คาดว่ารายได้จากธุรกิจนอกประเทศไทย ทั้งในส่วนของฐานการผลิตในต่างประเทศและการส่งออก จะสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2566 LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะรองรับการเติบโตของความต้องการโพลิเมอร์ภายในประเทศซึ่งในปัจจุบันยังคงพึ่งพาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ SCC มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ของรายได้รวมในปี 2563 ฟิทช์คาดว่าการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ นอกเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนการส่งออกไปเวียดนามในปัจจุบันที่จะถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศเวียดนามเองเมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์

สถานะความเป็นผู้นำตลาด - SCC มีสถานะเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน สถานะผู้นำตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, 'A(tha)'/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC เพียงหนึ่งอันดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกล. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, อันดับเครดิตโดยลำพัง 'aa-(tha)') ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจเคมิคอลส์น้อยกว่า PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีสถานะเครดิตโดยลำพังที่สูงกว่าอันดับเครดิตชอง SCC หนึ่งอันดับ อย่างไรก็ตาม PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการเข้าซื้อกิจการโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ PTTGC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีต่อความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 33 ต่อปีในปี 2564 (ปี 2563 อัตราการเติบโตเป็นลบร้อยละ 8.7 และเก้าเดือนแรกของปี 2564 อัตราการเติบโตร้อยละ 28) เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจแพคเกจจิ้ง รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจค้าปลีกสินค้าวัสดุก่อสร้าง; รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 5-10 ต่อปี ในปี 2565-2566 จากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในหลายผลิตภัณฑ์และการขยายกำลังการผลิต
อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 15 ในปี 2564 (ปี 2563 ร้อยละ 15.8 และเก้าเดือนแรกของปี 2564 ร้อยละ 15.5) และร้อยละ 13-14 ในปี 2565-2566 จากประมาณการ spreads ในธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง
ค่าใช้จ่ายลงทุน ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566
อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50 ในปี 2564-2566
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม
ปัจจัยลบ:
FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565 จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 4 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 6.0 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ฟิทช์คาดว่าสภาพคล่องของ SCC ในช่วงสองปีข้างหน้ายังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอก เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว โดย SCC มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวจากสถาบันการเงิน ที่คงเหลือใช้ได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 9.0 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินกู้สำหรับโครงการ LSP จำนวน 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท)

ข้อมูลบริษัท
SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 7.6 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนล่าสุดนับจนถึงสิ้นเดือนเดือนกันยายน 2564 SCC มีการกระจายความเสี่ยงในสามธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน