โตโยต้า คาด
ตลาดรวมรถยนต์ในประเทศไทยปี 65 ที่ 860,000 คัน โต 13.3%
นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดว่า ยอดขายตลาดรถยนต์ภายในประเทศปี 65 จะอยู่ที่ 860,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.3% จากปี 64 อยู่ที่ราว 759,119 คัน หากแบ่งเป็นประเภทรถยนต์ คาดว่าตลาดรถยนต์นั่งจะอยู่ที่ 292,500 คัน เพิ่มขึ้น 16.2% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 567,500 คันเพิ่มขึ้น 11.9%
สำหรับในปี 64 เป็นปีที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เช่น ปัญหาชิปขาดตลาด ด้วยเหตุนี้ ยอดขายรวมภายในประเทศจึงอยู่ที่ราว 759,119 คัน หรือลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปี 63
"ปีนี้เป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อย่างไรก็ดี เราคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ประชาชนเองก็เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ส่วนปัญหาชิ้นส่วนการผลิตขาดตลาดก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ"
นายยามาชิตะ กล่าวอีกว่า สำหรับโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายปี 65 อยู่ที่ 284,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 18.5% โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 33% จากปี 64 ที่มียอดขาย 239,723 คัน หรือลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 31.6% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ยอดขายของปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของโตโยต้าเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นมา สืบเนื่องมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เช่น การขายผ่านช่องทางออนไลน์ หากดูยอดขายของโตโยต้าในระหว่างช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 32.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไกล้เคียงกับในปี 62 หรือช่วงก่อนโควิด-19 โดยในส่วนของยอดขายของไฮลักซ์ รีโว่ นั้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 39.1% ซึ่งสูงกว่าของปี 62 ในขณะที่ เอทีฟ และ ยาริส นั้น ก็สามารถครองอันดับ 1 ในตลาดรถ อีโคคาร์
"ในส่วนของตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ โตโยต้ามียอดขายรวมทั้งปีเป็นอันดับ 1 ถึง 2 ปีซ้อน ด้วยยอดขายที่สูงเป็นประวัติการณ์ของโคโรลลา ครอส ส่วนฟอร์จูนเนอร์เองก็มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาดรถกระบะดัดแปลงต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ในขณะเดียวกัน คัมรี ก็ครองอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์ขนาดกลาง ส่วนไฮเอซก็ครองอันดับ 1 ตลอดกาลเช่นกันสำหรับในตลาดรถตู้"
นายยามาชิตะ ยังกล่าวอีกว่า โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จภายในปี 93 โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.64 นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศกลยุทธ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยโตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบทั้ง 30 รุ่นภายในปี 73 โดยรวมไปถึงรถซีรีส์ bZ จำนวน 5 โมเดล ซึ่งมาพร้อมกับแพลตฟอร์มที่พัฒนาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่โดยเฉพาะ โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ให้ได้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านคัน ภายในปี 73
ทั้งนี้ โตโยต้าทุ่มเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยที่เงิน 0.6 ล้านล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนด้านแบตเตอรี่ และยังลงทุนอีก 1.2 ล้านล้านบาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิงภายในปี 73