ธปท.ออกมาตรการ
ส่งเสริมจัดตั้งกิจการร่วมทุนแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากโควิด
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายลง รวมถึงการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจากสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังเปราะบางและต้องใช้เวลา
แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะยังแข็งแกร่ง ทั้งด้านเงินกองทุน สภาพคล่อง และเงินสำรองอยู่ในระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือในปัจจุบันทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพจะไม่เร่งตัวขึ้นเร็ว แต่เพื่อรองรับความไม่แน่นอนและดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากมาตรการทางการเงินที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ธปท. ยังเห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงินเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป จึงมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) ได้ ในระยะเวลาที่กำหนด กล่าวคือ ให้ระยะเวลา 3 ปี (ภายในปี 67) ในการยื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุน และมีระยะเวลา 15 ปีในการดำเนินกิจการร่วมทุนนี้ โดยในการดำเนินการ จะต้องให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อให้กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาด้วย
"มาตรการข้างต้น จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัทบริหารสินทรัพย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีทรัพยากรเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ดีขึ้น และด้วยกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จะดำเนินต่อเนื่องให้แก่ลูกหนี้ จะส่งผลให้ลูกหนี้ยังมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือและไม่ถูกเร่งรัดให้จำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อเนื่องไปได้" น.ส.สุวรรณี ระบุ
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีสถาบันการเงิน 2-3 แห่ง ที่แสดงความสนใจ และยังอยู่ระหว่างรอให้ ธปท.ประกาศหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการออกมาก่อน ดังนั้น หลังจากวันนี้ที่ ธปท.ได้มีการออกประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (JVAMC) แล้ว ก็คาดว่าคงจะมีสถาบันการเงินให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การส่งเสริมการจัดตั้ง JVAMC ไม่ได้แปลว่า ธปท.เห็นสัญญาณของ NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เพราะจากการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นแนวโน้ม NPL สิ้นปี 64 ที่จะดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 3/64 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่หลายคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาโควิดระบาดอย่างหนัก
"ย้ำว่า เรายังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมี NPL เพิ่มมากขึ้น แต่เราพยายามทำให้การแก้ปัญหาเป็นในรูปแบบของเอกชนกันเอง ไม่ได้พึ่งพา AMC ของรัฐ หรือพึ่งพางบประมาณของรัฐ เราอยากให้การแก้ปัญหาทำด้วยเอกชน และพยายามลดข้อจำกัด และจะให้ incentive เพิ่มเติมในการตั้ง AMC ในรูปแบบนี้" น.ส.สุวรรณี ระบุ
พร้อมมองว่า ข้อดีหรือประโยชน์ที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับจากการตั้ง JVAMC นั้น คือการขายสินทรัพย์ไปที่ JVAMC จะเป็นการขายที่แท้จริง จะตัดบัญชีออกจากสถาบันการเงินมาอยู่ตรงกลาง คือ JVAMC ซึ่ง ธปท.มองว่าการที่ลูกหนี้ประสบปัญหาจากโควิดในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อหมดปัญหาแล้ว ลูกหนี้ก็อาจกลับมาได้ปกติ และท้ายสุด ถ้าลูกหนี้กลับมาได้ ความเสียหายลดลง ก็จะกลับมาเหมือนเป็นเงินปันผลผ่านการถือหุ้นปกติของธนาคารพาณิชย์ แต่ถ้าขายสินทรัพย์ให้ AMC ทั่วไป ก็จะเท่ากับเป็นการขายขาดไปเลย เมื่อลูกหนี้ฟื้นกลับมา กำไรที่ได้ก็จะอยู่ที่ AMC แห่งนั้น
อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง JVAMC ที่เป็นมาตรการชั่วคราวนั้น หลังจากที่ครบกำหนดการยื่นขอจัดตั้งภายในปี 67 แล้ว จะให้ JVAMC เคลียร์ลูกหนี้ให้จบภายในระยะเวลา 15 ปี แต่ทั้งนี้ยังสามารถยืดหยุ่นให้ได้ โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท.ในขณะนั้น เพราะเนื่องจากไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีวิกฤติอะไรเข้ามาอีกหรือไม่
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า การจัดตั้ง JVAMC นี้จะไม่ทำลายกลไก AMC ทั่วไป เพราะ AMC แต่ละแห่งมี business model ที่ต่างกัน ในทางตรงกันข้าม การเพิ่ม AMC ในรูปแบบนี้ จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ธนาคารพาณิชย์ในการบริหารลูกหนี้ และเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มจำนวน AMC ในระบบที่จะเข้ามาแข่งขันในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ก็เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ ไม่ได้สิทธิอะไรเพิ่มนอกเหนือไปจาก AMC อื่น ที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ เหมือนกันทุกแห่ง
"ก่อนทำมาตรการ ได้สำรวจแล้วจาก AMC ที่มี ว่าด้วยเงินทุนที่มีอยู่ จะสามารถรองรับ NPL ได้มากน้อยเพียงใด พบว่าไม่มาก อัตราการขายหนี้ต่อปีไม่สูง เราจึงสร้างทางเลือกเพิ่มทำให้ธนาคารพาณิยช์ตัวเบาขึ้น ไม่ต้องระวังหลัง เวลาจะช่วยลูกหนี้ที่จะฟื้นตัวในอนาคต สามารถช่วยลูกหนี้ให้เดินต่อไปได้ โดยที่ NPL ของเขายังมีคนช่วยบริหารจัดการได้อยู่ อันนี้จึงเหมือนเป็นเครื่องมือที่จะช่วย support แบงก์ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังจะฟื้นตัวต่อไปได้" น.ส.สุวรรณี ระบุ