ผู้เขียน หัวข้อ: กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ เผย 4 ธีมการลงทุนในปี 2565  (อ่าน 388 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • *
  • กระทู้: 861
  • Popular Vote : 0
กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ เผย 4 ธีมการลงทุนในปี 2565 ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของตลาด และกระแสข่าวการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขยับใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในการยับยั้งภาวะเงินเฟ้อ มีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้และดึงสภาพคล่องออกจากระบบ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ โดย คุณวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองเจาะลึกการบริหารพอร์ตการลงทุนในปี 2565 ไว้ 4 ธีมหลัก ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มการลงทุนโลก โดยมุมมองดังกล่าวเป็นการสะท้อนสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทางกรุงศรีได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ BlackRock พันธมิตรระดับโลก ฉายภาพการลงทุนในปี 2565 ให้ชัดเจน เพื่อช่วยให้นักลงทุนเข้าใจและวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

Theme 1: Living with COVID (and inflation)
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคสาธารณสุขมีการเปิดเผยว่า COVID-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลเชื่อมโยงกับการลงทุนในปี 2565 ทั้งสิ้น

แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง แต่ทั่วโลกยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ปัจจัยที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ขณะนี้ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส (Booster Dose) ของแต่ละประเทศ ดังนั้นสถานการณ์ COVID-19 ยังคงมีผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเปิดประเทศเพื่อการเดินทางระหว่างกันอาจจะช้าลง อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์COVID-19 ที่ยืดเยื้อทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้นแม้มีการแพร่ระบาดของโรคอยู่ ทำให้ราคาสินค้าและบริการในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นและเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสถานการณ์เงินเฟ้อที่อาจจะยาวนานกว่าคาด

"นอกจาก COVID-19 แล้ว ปีนี้เงินเฟ้อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุน ทาง BlackRock ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับเงินเฟ้อที่สูงมาก อย่างเช่นในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องราคาพลังงาน ราคาสินค้า Supply Chain Disruptions อย่างไรก็ตามในความวุ่นวายของสถานการณ์เศรษฐกิจยังคงมีข่าวดี โดย BlackRock และกรุงศรีคาดการณ์ตรงกันว่า เงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยลบมากกับพอร์ตการลงทุนเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้เท่านั้น และจะคลี่คลายลงได้ในไตรมาส 2-4 ต่อไป เนื่องจากสามปัจจัยหลัก คือ (1) ตัวเลขเงินเฟ้อไตรมาส 1 ของปีนี้เป็นตัวเลขสูงจากฐานที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้นเมื่อผ่านช่วงฐานต่ำไปทุกอย่างน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลง (2) ราคาน้ำมันน่าจะลดลงในไตรมาส 2-4 มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะลดลงได้ถึง 70 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงจะส่งผลให้เงินเฟ้อผ่อนคลายลง และ (3) Supply Chain Disruptions ได้ผ่านจุดพีคไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2564 ดังนั้นหลังจากนี้น่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน" คุณวิน กล่าว

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อการลงทุนค่อนข้างมาก สถานการณ์เงินเฟ้อทำให้ราคา Bond Yield ปรับสูงขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือ ตราสารหนี้มีความผันผวนมากโดยเฉพาะตราสารหนี้ต่างประเทศตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว และมีผลต่อตราสารหนี้ไทยด้วย ดังนั้นในภาพรวม BlackRock และกรุงศรีแนะนำนักลงทุนให้ Underweight หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ หรือหากต้องการลงทุนควรเน้นตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อเลี่ยงความผันผวนของตลาดตราสารหนี้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์เงินเฟ้อได้ส่งผลให้ Fed ต้องขยับตัวเพื่อบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว ดังนั้นในปีนี้จากเดิมที่คาดการณ์ว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1-2 ครั้ง แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ความคาดหวังของตลาดมีความเปลี่ยนแปลงไปสูงมาก นักลงทุนคาดว่า Fed จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม สิ่งเหล่านี้เองที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมามีความวุ่นวายพอสมควร มีการเทขายโดยเฉพาะหุ้น Growth ออกมาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม มุมมองของกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ มองว่าสิ่งที่นักลงทุนอาจจะต้องเจอเป็นเซอร์ไพร์ส (Positive surprise) ในปี 2565 คือ Fed ไม่ได้เร่งทำนโยบายที่ตึงตัวตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยอาจจะปรับดอกเบี้ยช้าหรือน้อยครั้งกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ดังนั้นในฝั่งหุ้น กรุงศรีแนะนำว่าควรเลือกหุ้น Quality เนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายของตลาด เช่น กองทุน KFGBRAND ที่เน้นการลงทุนในสินค้าแบรนด์อุปโภคบริโภคชั้นนำ และหุ้น Growth ที่เดิมเคยโดนเทขายจำนวนมาก อีกไม่นานอาจจะกลับมาได้จาก Positive surprise ซึ่งต้องจับตาดูอาจจะมีจังหวะที่นักลงทุนสามารถกลับมาซื้อหุ้นกลุ่ม Growth และกลุ่ม Tech ได้ เป็น Watch list ที่ทางกรุงศรี อยากแนะนำให้นักลงทุนรอจังหวะเพื่อการลงทุน

Theme 2: เศรษฐกิจฟื้นไม่พร้อมกัน การเติบโตที่ไม่เท่ากัน (Uneven recovery and policy divergence)
นโยบายทางเศรษฐกิจของหลายภูมิภาคทั่วโลกเริ่มมีความแตกต่างกัน ก่อให้เกิดความกังวลและสับสนกับนักลงทุนว่าควรจัดการการลงทุนของตนเองอย่างไร

วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะเติบโตอยู่ที่ 4.9% พร้อมให้ข้อมูลค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งช่วยฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและนโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศได้ชัดเจนขึ้น

วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า GDP ของสหรัฐฯและยุโรปในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 4-5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ขณะที่ GDP ของจีนในปีนี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่จีนเคยทำได้ย้อนหลัง 10 ปี หมายความว่าในปีนี้เศรษฐกิจทางฝั่งสหรัฐฯและยุโรปมีการฟื้นตัวดีมาก เติบโตมากกว่าที่เคยโตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นสหรัฐฯและยุโรปจึงต้องดำเนินนโยบายที่ลดทอนความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ด้วยนโยบาย Quantitative Tightening: QT และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่จีนเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตรงกันข้าม จีนเติบโตช้ากว่าที่เคย ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีนในปีนี้จะต้องหันมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น สวนทางกับฝั่งตะวันตกที่เน้นนโยบายลดทอนความร้อนแรงของเศรษฐกิจ กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ มองว่า สิ่งนี้มีผลดีต่อตลาดหุ้นจีน ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจในปีนี้ หลังจากรับรู้ข่าวร้ายไปหมดแล้วในช่วงก่อนหน้า

Theme 3: ESG การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
หากดูตัวเลขสินทรัพย์ ESG (ESG Asset) ทาง Bloomberg คาดการณ์ไว้ว่าภาพรวมสินทรัพย์ ESG อยู่ที่ระดับประมาณ 35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา และคาดว่าภายในปี 2568 จะเติบโตขึ้น อยู่ที่ 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนใน ESG ไม่ใช่แค่หุ้น แต่มีกระจายไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย และตัวเลขดังกล่าวยังบ่งบอกว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ ESG อย่างต่อเนื่องและมากขึ้น ทั้งจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อย โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับนักลงทุนประเภทรายบุคคลก็มีการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ ESG อย่างต่อเนื่อง และในอนาคตอันใกล้จะมีการถ่ายเทความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น และมีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่จะให้ความสนใจเรื่อง ESG มากขึ้น ประกอบกับความต้องการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้มีเพิ่มสูงมาก

"การลงทุนใน ESG Asset ได้รับปัจจัยหนุนทั้ง Fund Flow จากนักลงทุน ดีมานด์ในฝั่งภาครัฐและภาคธุรกิจที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน กรุงศรี เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงกระแสระยะสั้น แต่เป็นเทรนด์และดีมานด์การลงทุนที่แท้จริง ซึ่งกรุงศรีและ BlackRock ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน" คุณวิน กล่าว

นอกจากนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า หุ้นกลุ่มนี้มีผลดีต่อการลงทุนมากกว่าหุ้นทั่วไป โดยหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีดีกว่าหุ้น SET100 ประมาณ 10% นอกจากเป็นหุ้นที่ดีแล้ว ยังสร้างผลงานที่ดีกว่าด้วย

Theme 4: สินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset for peace of mind)
ปี 2564 กรุงศรีมีการลงทุนใน Finnoventure Fund กองทุนที่มุ่งลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพคาดว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้จะกลายเป็นยูนิคอร์นในอนาคต ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก นับเป็นก้าวแรกของกรุงศรีและเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีกองทุนลักษณะดังกล่าว ในปี 2565 กรุงศรีจะมุ่งเน้นในเรื่องดังกล่าวนี้ต่อเนื่อง โดยจะมีการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real-estate)

คุณวิน อธิบายเพิ่มเติมว่า ลักษณะคล้ายการที่นักลงทุนลงทุนในคอนโดให้เช่า แต่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ อาจมีความกังวลเรื่องผู้เช่า การดูแลรักษา รวมทั้งสภาพคล่องที่ต่ำมาก นักลงทุนอาจไม่มีโอกาสกระจายความเสี่ยง แต่หากเราสามารถเลือกลงทุนในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นกองทุนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด โดยให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสินทรัพย์ในต่างประเทศที่มีความหลากหลาย ทั้งที่เป็นอาคาร Mix-used หรืออพาร์ทเมนต์ มีคนบริหารจัดการให้ ดูแลเรื่องภาษี ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ผลตอบแทนที่เราคาดหวังจะอยู่ที่ประมาณ 4-5%

"จากข้อมูลพบว่าทั้งอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดและหุ้นนอกตลาดต่างมีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว นั่นหมายถึงว่าการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ช่วยลดความผันผวนในต่างประเทศได้เช่นกัน" คุณวิน กล่าว

"ปัจจุบันนักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าถึงสินทรัพย์ในกลุ่มนี้ได้มากขึ้น จากในอดีตที่จำกัดการลงทุนเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ โดยมาในรูปแบบของกองทุนรวมสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ขนาดของเงินลงทุนครั้งละ 500,000 - 1,000,000 บาท ซึ่งแนะนำว่านักลงทุนควรถือสินทรัพย์กลุ่มนี้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อตักตวงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนให้นานที่สุด ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินเย็น ยอมรับความเสี่ยงได้ โดยสินทรัพย์กลุ่มนี้เหมาะกับคนที่ต้องการแบ่งพอร์ตส่วนหนึ่งไว้เพื่อความสบายใจ หรือ Peace of Mind เนื่องจากต้องการให้พอร์ตการลงทุนส่วนหนึ่งมีความผันผวนน้อย แต่ต้องถือสินทรัพย์ชนิดนี้ค่อนข้างนาน"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศจึงมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของค่าเงินด้วย ดังนั้นการเลือกลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้ควรมีผู้จัดการกองทุนที่ช่วยดูแลเรื่องการป้องกันหรือปิดความเสี่ยงของค่าเงิน รวมถึงมีประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพในการบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวด้วย ซึ่งกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ มีความพร้อมในการช่วยลูกค้าดูแลสินทรัพย์ในกลุ่มนี้

ติดตามข้อมูล ความรู้ และบทวิเคราะห์ด้านการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ LINE @krungsriexclusive