ผู้เขียน หัวข้อ: เศรษฐกิจไทยธ.ค. ปรับดีขึ้นตามบริโภคภาคเอกชน-ท่องเที่ยว  (อ่าน 286 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ deam205

  • *
  • กระทู้: 1,097
  • Popular Vote : 0
เศรษฐกิจไทยธ.ค. ปรับดีขึ้นตามบริโภคภาคเอกชน-ท่องเที่ยว-ส่งออกโตต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยธ.ค. ปรับดีขึ้นตามบริโภคภาคเอกชน-ท่องเที่ยว-ส่งออกโตต่อเนื่อง
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธ.ค. 64 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค. 64 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธ.ค. 64 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 16.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 4.8% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 46.2 จากระดับ 44.9 ในเดือนพ.ย. 64

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 25.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 8.8% อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -29.1% และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.2%

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนธ.ค. 64 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 1.3% การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -10.4% ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 1.7%

ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนธ.ค. 64 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยที่ -0.2% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 5.2% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 7.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.1%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธ.ค. 64 อยู่ที่ 24,930.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.2% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 23.0% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่

1. สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป และยางพารา ที่ขยายตัว 48.1% 24.9% 23.7% และ 22.7% ตามลำดับ

2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ

3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

4. สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

5. สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ 45.0% ทั้งนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 54.4% 36.5% และ 35.0% ตามลำดับ

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนธ.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.8 จากระดับ 85.4 ในเดือนก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนธ.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 230,497 คน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย สหรัฐฯ และสวีเดน โดยได้รับปัจจัยสนับนุนจากมาตรการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศให้เข้ามาไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (Test and Go)

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนธ.ค. 64 จำนวน 15.95 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 31.8%

ขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนธ.ค. 64 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.1% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -4.2% ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพด มันสำปะหลัง สุกร และไก่ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ยังคงขยายตัว

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 64 อยู่ที่ 2.17% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.29% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 64 อยู่ที่ 59.6% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 64 อยู่ในระดับสูงที่ 246.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ