KKP เป้าปี 65 สินเชื่อโต 12% NIM 5.1%
รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้น คุม NPL 3.3%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 65 เติบโต 12%
ปัจจัยหนุนการเติบโตของสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในปีนี้ โดยหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ และกลุ่มสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าได้ จึงมองว่าภาคการบริโภคจะเริ่มกลับมา
ประกอบกับ การลงทุนในประเทศที่จะกลับมาด้วย ซึ่งจะทำให้คนในประเทศกลับมาทำงานมากขึ้นและมีรายได้เข้ามา เชื่อว่าจะเห็นการบริโภคฟื้นตัวขึ้น และเริ่มมีการจัจ่ายใช้สอย รวมถึงจะมีการขอสินเชื่อเข้ามามากขึ้น ช่วยหนุนการเติบโตของกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อในปีนี้มากกว่า 12% และสินเชื่อรายย่อยที่จะเป็นปัจจัยหนุนหลักต่อการเติบโตสินเชื่อในปีนี้
ขณะที่กลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มองว่าในปีนี้จะเห็นการพลิกกลับมาเติบโตได้หลังจากช่วงปี 63-64 หดตัวต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้นตามความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น หลังจากเริ่มเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนจากโควิด-19 อยู่บ้างก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก จากช่วง 2 ปีที่ชะลอไป
ด้านกลุ่มธุรกิจนายหน้าขายประกันผ่านสาขาของธนาคาร (Bancassurance) เชื่อว่าจะสร้างรายได้กลับมาได้อย่างดี จากการที่คนเริ่มมีรายได้มากขึ้น ทำให้การซื้อประกันต่างๆ จะเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับ ปีนี้ธนาคารจะหันมาเน้นการรุกด้านการขยายบริการด้านดิจิทัลมากขึ้นเพื่อขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น และเพิ่มผลิตภัณฑ์บริการที่มีความหลากหลาย
รวมทั้งกลยุทธ์ของธนาคารในปีนี้จะเน้นกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงด้วยเช่นกัน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสของธนาคารที่จะเข้ามารุกกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว โดยจะดำเนินการผ่านบริการด้านดิจิทัลภายใต้ชื่อ Dime ที่จะเปิดตัวในปีนี้ ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน KKP Mobile ให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินในยุคดิจิทัลมากขึ้น
ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนและธุรกิจบริหารจัดการลงทุน มองว่ายังสามารถสร้างรายได้ให้กับธนาคารได้ดีมาต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความผันผวนจากปัจจัยต่างๆที่เข้ามา โดยธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บริการการลงทุนต่างประเทศผ่าน Mandate Service หรือกองทุนแฟล็กชิป KKP-SGAA และธนาคารยังรุกขยายฐานลูกค้าในกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น ผ่านบริการ KKP Edge ที่ใช้ระบบและกระบวนงานดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯได้กว้างขวางขึ้น และมีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลง โดยปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) ที่ธนาคารบริหารให้กับลูกค้าอยู่ที่ 7.34 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเติบโตได้ราว 15-20%
อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของสินเชื่อในกลุ่มที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากในพอร์ตได้ แต่ธนาคารก็มีการบริหารจัดการด้านต้นทุนอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้ยังมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี ธนาคารได้ติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและบริหารจัดการด้านต้นทุนเพื่อทำให้ผลตอบแทนของสินเชื่อยังทำได้ในระดับสูง โดยคาดว่าส่วนต่างผลตอบแทนดอกเบี้ย (NIM) ในปีนี้จะอยู่ที่ 5.1% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 5.3%
"เรามองว่าโควิดยังไม่จบ และเราก็มีความระวังในเรื่องเทรนด์ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะพอร์ตสินเชื่อเรามีสินเชื่อที่เป็นดอกเบี้ย Fixed อยู่สูง แต่ยังไงก็ตามเรามองว่าปีนี้เป็นปี Recovery แม้ว่าก็อาจจะยังไม่กลับมาเท่ากับก่อนโควิดก็ตาม ซึ่งการที่เรามองเศรษฐกิจไทยโตเกือบ 4% ก็เห็นภาพที่ดีต่อการฟื้นตัวกลับมาของผลประกอบการ แนวโน้ม Credit cost ก็จะลดลง และที่ผ่านมาตั้งสำรองฯส่วนเกินไปมาก ทำให้เรามี Coverage ratio สูงถึง 175% สิ่งเรานี้เราก็สามารถนำกลับมาคืนเป็นผลประกอบการต่อไปได้หลังจากสถานการณ์ต่างๆกลับมาดีขึ้นชัดเจน" นายอภินันท์ กล่าว
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 65 จะควบคุมให้ไม่เกิน 3.3% จากปีก่อนที่ 3% เนื่องจากในปีนี้ธนาคารเน้นรุกสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเกิด NPL เพิ่มขึ้นได้ แต่มองว่าลูกค้าในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อจะมีแรงกดดันลดลงหลังจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจตามปกติ ทำให้คนกลับมามีรายได้ และมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ ส่วนกลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวมองว่าในปีนี้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน ทำให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวไปเหมือนก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ได้ และยังมีลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวอยู่ในมาตรการช่วยเหลือราว 50% ของพอร์ตที่มีอยู่ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มองว่าลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรมบางรายที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือของธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี จากการที่เริ่มมีรายได้กลับเข้ามา จากการนำโรงแรมไปทำ Hospitel ทำให้มีรายได้เข้ามาครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการบริการจัดการ และมีรายได้มาจ่ายดอกเบี้ยได้บางส่วน ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายนำโรงแรมไปเข้าโครงการ Asset warehousing รวมกว่า 1 พันล้านบาท ทำให้มีเงินกลับมาในการบริหารจัดการและชำระคืนธนาคารได้