ผู้เขียน หัวข้อ: ผลิตไฟเองขุดเหมืองคริปโทฯ..ทำได้ไหม ??  (อ่าน 408 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • *
  • กระทู้: 931
  • Popular Vote : 0
ผลิตไฟเองขุดเหมืองคริปโทฯ..ทำได้ไหม ??
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2022, 02:58:21 am »
Decrypto: ผลิตไฟเองขุดเหมืองคริปโทฯ..ทำได้ไหม ??

การทำเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี (Crypto Mining) กล่าวคือ การแข่งขันแก้สมการทางคณิตศาสตร์โดยคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้สกุลเงินดิจิทัล ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ดังนั้น หากเรายังต้องเสียค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อกิจกรรมข้างต้น เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าเราได้คริปโทเคอร์เรนซีมาแบบ "ฟรี" แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำให้ต้นทุนการทำเหมืองถูกลงโดยเราไม่ต้อง "จ่ายค่าไฟฟ้า" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Operational Expenses: OPEX) ในการทำเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี

ผู้ทำเหมืองอาจเลือกที่จะไม่ใช้ไฟฟ้าจาก กฟน. หรือ กฟภ. แต่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยเริ่มต้นจากสั่งซื้อแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าจ้างให้คนขายหรือผู้ให้บริการอื่นมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และเดินระบบไฟฟ้าให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบรักษาอุณหภูมิ เราสามารถทำงานได้โดยพึ่งพาไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายน้อยลง

หลายท่านอาจรู้สึกว่าการซื้อแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้งานที่บ้าน เราซื้อมาด้วยเงินเราเอง ติดตั้งเอง และใช้งานได้เอง ไม่มีขั้นตอนใดที่จะต้องไปขออนุญาตจากรัฐก่อน แต่อย่างไรก็ตาม "การผลิตไฟฟ้าใช้เอง" นั้นมีขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่านั้น และ "อาจ" ต้องขออนุญาตจากรัฐก่อนในบางกรณีอีกด้วย

การผลิตไฟฟ้าไม่ใช่กิจการรัฐผูกขาด เพราะเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายใต้การกำกับ (regulate) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.กิจการพลังงานฯ) มาตรา 47 วรรคหนึ่งของกฎหมายดังกล่าวเขียนเอาไว้ชัดว่า การประกอบกิจการพลังงาน (ซึ่งรวมถึงการผลิตไฟฟ้า) ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามมาตรา 47 วรรคสามของ พ.ร.บ.กิจการพลังงานฯ

...คำถามคือแผงโซลาร์เพื่อการทำเหมืองคริปโทเคอร์เรนซีเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นหรือไม่ ?

หากอุปกรณ์ของเรามีกำลังการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ซึ่งแปลงได้เป็น 800 กิโลวัตต์ (คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะจะใช้ไฟฟ้าประมาณ 60-250 วัตต์ โดยการขุด Bitcoin จะใช้ไฟฟ้าประมาณ 1,173 กิโลวัตต์ต่อหนึ่งธุรกรรม) กรณีนี้ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2552

แต่ผู้ที่ประสงค์จะผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีหน้าที่ต้อง "แจ้ง" การเริ่มผลิตไฟฟ้าต่อสำนักงาน กกพ. ตามประกาศ กกพ. เรื่อง การกำหนดให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเป็นกิจการที่ต้องแจ้ง พ.ศ. 2551 โดยผู้แจ้งจะต้องให้การรับรองตามคำรับรองตนเอง ประกอบแบบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต เช่น รับรองว่า "การออกแบบ ติดตั้ง ควบคุมงาน และอำนวยการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ได้รับการตรวจสอบรับรองโดยวิศวกรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ได้แก่ วิศวกรโยธา ไฟฟ้ากำลัง เครื่องกล อุตสาหการ หรือสิ่งแวดล้อม (แล้วแต่กรณี) ว่าสามารถประกอบกิจการพลังงานได้อย่างปลอดภัยเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานทางวิศวกรรม วิชาการ"3

นอกจากนี้ ผู้ที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องมาตรการด้านการออกแบบระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และมาตรการด้านการจัดการขยะและกากของเสีย4

ในกรณีที่กำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ผู้ประสงค์จะผลิตไฟฟ้าจะต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจาก กกพ. และเสียค่าธรรมเนียมการอนุญาตผลิตไฟฟ้า เช่น กรณีมีกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องเสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ 5,000 บาท

การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าโดยไม่ได้ใช้เชื้อเพลิง จึงไม่ใช่การประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (ดังเช่นกรณีของโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้เพลิงเพื่อต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำเพื่อหมุนกังหันที่ต่อกับขดลวดและแม่เหล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "Environmental Impact Assessment หรือ EIA" ซึ่งกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนทุกประเภท ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปเป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งไม่ต้องทำ EIA ในกรณีนี้ยังต้องดำเนินการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งรวมถึงสถานประกอบกิจการพลังงานประเภทที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตโวลเทอิกที่ติดตั้งบนหลังคาที่เข้าข่ายต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ซึ่งมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ มาตรการด้านการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และมาตรการด้านการจัดการขยะและกากของเสีย8

โดยสรุป การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในการทำเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี สามารถทำได้ แต่จะต้องสอดคล้องกับกติการเรื่องการกำกับกิจการไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.กิจการพลังงานฯ และกฎระเบียบที่ออกจากตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า

แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดผู้ที่ประสงค์จะผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในการทำเหมืองขุดคริปโทเคอร์เรนซี ต้องรวมเอาต้นทุนในการปฏิบัติตามมาตรฐานทางกฎหมาย (Compliance Cost) เข้าไปการคำนวณต้นทุนในการดำเนินการด้วย

มีข้อสังเกตว่า กฎ กติกาเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงเรื่องเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่ยังมีการกำกับดูแลในเรื่องอื่น ๆ เช่น การตั้งโรงงาน การก่อสร้างและดัดแปลงอาคารอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่สนใจต่อไปว่าหากเรามีไฟฟ้าส่วนเกิน เราจะขายไฟฟ้าให้เพื่อนข้างบ้านที่อยากจะซื้อไฟฟ้าที่เราผลิตเองได้หรือไม่ หากขายได้จะใช้ระบบไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. ได้หรือไม่ และจะขายไฟฟ้าได้ในอัตราเท่าใด ประเด็นข้อกฎหมายเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ

ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (สาขากฎหมายธุรกิจ) หลักสูตรนานาชาติ

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย