ผู้เขียน หัวข้อ: BPP ฉากใหญ่ปีเสือสู่ Growth Story หุ้นบาดตาสถาบัน  (อ่าน 380 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • *
  • กระทู้: 1,190
  • Popular Vote : 0
BPP ฉากใหญ่ปีเสือสู่ Growth Story หุ้นบาดตาสถาบัน
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 03, 2022, 12:43:09 am »


กลายเป็นหุ้นที่กลับเข้าไปอยู่ในสายตาของนักลงทุนสถาบันอีกครั้ง สำหรับ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เรือธงของกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รับคัดเลือกเข้าไปคำนวณดัชนี SET100 และ SETHD ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 (1 ม.ค.-30 มิ.ย.65) มาพร้อมกับยุทธ์ศาสตร์ขยายอาณาจักรดันกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 5,300 MW ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือปี 68

*หวนคืนหุ้นบาดตาสถาบันอีกครั้ง

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ข่าวดีที่หุ้น BPP ได้รับคัดเลือกเข้าไปคำนวณในดัชนี SET100 และ SETHD เชื่อว่าจะส่งผลเพิ่มโอกาสที่หุ้นของบริษัทจะกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายลงทุนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่จะปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนสอดคล้องกับเงื่อนไขของการเข้าคำนวณในดัชนีดังกล่าว

"เมื่อหุ้น BPP เข้าไปอยู่ใน SET100 และSETHD สะท้อนถึงความเป็นหุ้นที่มีการสร้างผลกำไรเติบโตที่ดีหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ผลักดันมาร์เก็ตแคปของบริษัทเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพจ่ายเงินปันผลอัตราสูง ทำให้หุ้น BPP มีโอกาสสูงที่จะเข้าไปอยู่ในเรดาห์ของนักลงทุนสถาบันหลายๆ แห่งเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้น BPP ช่วงหลังจากนี้" นายกิรณ กล่าว
*ปี 65 ลุ้นโตเด่น ทุ่มงบ 200-300 ล้านเหรียญฯ ขยายกำลังผลิตไฟฟ้า

นายกิรณ กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/64 ที่เตรียมรายงานช่วงต้นปี 65 มองเห็นสัญญาณเติบโตที่ดีตามการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่เข้ามาเพิ่มเติม คือ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ กำลังการผลิต 768 เมกะวัตต์ ซึ่ง BPP ถือหุ้น 50%

บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 64 หลังจากปิดดีลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 จากนั้นในปี 65 จะรับรู้รายได้เต็มปี ขณะที่บริษัทมีแผนขยายการลงทุนในโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงปลายปี 64 สถานการณ์ของราคาถ่านหินในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยถ่านหินนับเป็นต้นทุนหลักการผลิตไฟฟ้า แต่บริษัทวางกลยุทธ์ลดและควบคุมค่าใช้จ่าย ดังนั้น การรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตใหม่เข้ามาก็ยังสามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตผลประกอบการของบริษัทได้เป็นอย่างดี

ด้านงบลงทุนปี 65 คาดว่าจะใช้ราว 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นวงเงินลงทุนที่ใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อนำไปต่อยอดขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนใน 7 ประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐที่เพิ่งเข้าไปลงทุน ซึ่งแผนขยายการลงทุนหรือปรับปรุงศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มฯ น่าจะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งแรกของปี 65

"ตอนนี้ทั้ง 7 ประเทศที่เราอยู่ ถ้ามีโอกาสในการลงทุนด้าน Renewable หรือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ High Efficiency, Low Emissions Technology เรามองหมดเลย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ 8 ที่ 9 ก็มีความเป็นไปได้...เราก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสการขยายการลงทุนในโครงการใหม่ๆ นอกเหนือจากประเทศที่มีการลงทุนอยู่ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่สำคัญคือโครงการนั้นต้องเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กิจการของกลุ่มทั้งระบบนิเวศ (Ecosystems) หนุนศักยภาพทำกำไรเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว" นายกิรณ กล่าว
*เล็งปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าเวียดนาม 50 MW ภายใน Q2/65

สำหรับดีลล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 รายงานความคืบหน้าการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม ดำเนินการผ่านบริษัท BRE Singapore Pte.Ltd (BRES) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บ้านปูเน็กซ์ จำกัด (BANPU และบมจ. บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ถือหุ้นเท่ากันที่ 50%)

BRES ลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน 100% ในบริษัท LCE Gia Lai โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Chu Ngoc ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ และ บริษัท LCE Ninh Thuan ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Nhon Hai ขนาดกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวม 26.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 883 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 2/65

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่ง มีจุดเด่นหลายประการ ได้แก่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับดีเยี่ยมและยาวนาน มีราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 9.35 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ถือเป็นอัตราที่ดี รวมทั้งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 20 ปี ส่งผลถึงกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับอย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ BPP ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าฮาติ๋ญ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ เมื่อเดือน ธ.ค.64 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่บริษัทเข้าไปลงทุนในเวียดนาม

*วางเป้าปี 68 กำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 5,300 MW

นายกิรณ เปิดเผยแผนการขยายธุรกิจในระยะยาวว่า บริษัทมีเป้าหมายปี 68 จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 5,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในพอร์ตการลงทุนทั้งหมด 3,300 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตที่จะเพิ่มเข้ามา 2,000 เมกะวัตต์ จะมุ่งเน้นขยายการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และเป็นพลังงานสะอาดประเภท Greener & Smarter เติบโตไปพร้อมกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งบริษัทวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน EBITDA จากโครงการพลังงานสะอาดเป็นอย่างน้อย 25-30% ของ EBITDA รวมในอนาคต

"ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา BPP มีกระแสเงินสดที่ได้รับเป็นหลักมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ในอีก 5 ข้างหน้า กลุ่มฯ ก็ตั้งเป้าชัดเจนว่ากระแสเงินสดที่เข้ามาเป็นหลัก จะต้องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด สอดรับไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

แม้ว่าหนึ่งความท้าทายการลงทุน คือความคุ้มค่าผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่ได้สูงเหมือนกับในอดีต แต่ทางบริษัทมีกลยุทธ์หลากหลายแนวทาง เช่น การหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ การ Recycle assets เปลี่ยนทรัพย์สินกลายเป็นเงินทุนเพื่อขยายโครงการที่มีศักยภาพสูงกว่าเดิม เป็นต้น" นายกิรณ กล่าว