ผู้เขียน หัวข้อ: พาณิชย์ ชี้ CPI ม.ค.พุ่ง 3.23%จากราคาพลังงานเป็นหลัก  (อ่าน 382 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ luktan1479

  • *
  • กระทู้: 1,132
  • Popular Vote : 0
พาณิชย์ ชี้ CPI ม.ค.พุ่ง 3.23%จากราคาพลังงานเป็นหลัก มองยังไม่จำเป็นใช้มาตรการสกัด

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 65 เพิ่มขึ้น 3.23%YoY จากตลาดคาด 2.40% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 0.52%

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 3% เป็นผลจากปัจจัยราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสำคัญ ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารสดนั้น ไม่ได้เป็นนัยสำคัญมากต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้

"เงินเฟ้อเดือนม.ค. ที่เพิ่มขึ้น 3.23% นั้น ปัจจัยหลักไม่ใช่เพราะราคาอาหารสดเพิ่มขึ้น จริงอยู่ ที่ราคาอาหารสดเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อของไทยปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ปัจจัยสำคัญ มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก" นายรณรงค์ กล่าว
พร้อมมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ 3% ยังไม่เป็นสัญญาณที่ต้องกังวล เพราะมองว่าเป็นเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ ไม่เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาครัฐจะต้องใช้มาตรการเพื่อสกัดเงินเฟ้อในขณะนี้แต่อย่างใด ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับ 1-3% ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ

"หากเงินเฟ้อขึ้นเร็วแบบผิดปกติ เช่น ขึ้นเป็น 4% 5% 6% 7% ภายใน 4-6 เดือน ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะใช้มาตรการใดเข้ามาดูแล แต่ในเดือนนี้ เรายังเฝ้าติดตามเฉยๆ เพราะไม่ได้ถือว่าผิดปกติ แต่เป็นเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ" นายรณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าสำคัญ และในกลุ่มอาเซียน (ข้อมูลเดือน ธ.ค. 64) พบว่า สหรัฐอเมริกา สูงขึ้น 7.0% สหราชอาณาจักร สูงขึ้น 5.4%สิงคโปร์ สูงขึ้น 4.0% และฟิลิปปินส์ สูงขึ้น 3.6% ดังนั้น เมื่อพิจารณาภาวะเงินเฟ้อของหลายประเทศในสถานการณ์โลกปัจจุบัน จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. 65 ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 64 ดังนั้น สินค้าในกลุ่มพลังงานจึงมีผลต่อการขึ้นของเงินเฟ้อถึง 2.25% เมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อน้อยมาก โดยเนื้อสุกร มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.67%, ไก่สด มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.03% และไข่ไก่ มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.05% นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามต้นทุนการผลิต (ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน) จึงส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก อาทิ น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และค่าบริการส่วนบุคคล

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในขณะที่ สนค.ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนี CPI ทั้งนี้ เชื่อว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่า ธปท.จะใช้วิธีการที่รัดกุมและสามารถสะกัดเงินเฟ้อได้หากอัตราเงินเฟ้อในประเทศขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงจนผิดปกติ ซึ่งที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นมากนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น นอกจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น

"ถ้าเกิดเหตุให้เงินเฟ้อพรวดพราดขึ้นไปเป็น 4-7% ใน 6 เดือน ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะใช้มาตรการไหนเพื่อแก้ไขปัญหา เชื่อว่าแบงก์ชาติมีวิธีการที่รัดกุม และสามารถสะกัดเงินเฟ้อได้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีเงินเฟ้อสูงมาจากเหตุอื่นใดเลย นอกจากราคาน้ำมัน" นายรณรงค์ ระบุ
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.พ. 65 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่มากนัก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับราคาฐานของเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าจ้างแรงงาน และยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการผลิต และราคาขายปลีกสินค้าและบริการในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าขนส่ง และต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น