FETCO ประเมินวอลุ่มเทรดหด 40%
หากรัฐเก็บภาษีหุ้นห่วงกระทบการระดมทุนภาคศก.
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าพบกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอผลการศึกษาการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ว่า FETCO ได้มีการเข้าพบ รมว.คลัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อนำเสนอถึงผลการศึกษา ในแง่ของผลกระทบจาก Financial Transaction tax ต่อสภาพคล่องที่จะลดลงอย่างนัยสำคัญ โดยทางภาครัฐก็ได้รับฟัง รวมถึงยืนยันว่ายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ก็คงต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลังอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาดังกล่าว FETCO มองว่า 1.สภาพคล่องในตลาดทุน 2 ปีข้างหน้า มีโอกาสลดลงอย่างแน่นอน จากการเริ่มทำ Quantitative Tightening (QT) หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก หรือเข้าสู่ภาวะเข้มงวดมากขึ้น เห็นได้จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เฉลี่ยอยู่ที่ 93,000 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือเฉลี่ย 60,000-80,000 ล้านบาทต่อวัน
2. หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้น จะทำให้ต้นทุนในการลงทุนของนักลงทุนทุกประเภทสูงขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยประมาณการณ์ว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 70% หรือ 0.7 เท่า ขณะเดียวกันหากคิดเพียงนักลงทุนต่างประเทศ จะมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 1.7 เท่า หรือ 170% อาจส่งผลทำให้นักลงทุนเหล่านี้ไม่เข้ามาลงทุนในประเทศ
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทั้งหมดแล้วก็คาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดทุนหดตัวราว 40% หรือมีวอลุ่มเทรดเหลือประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อวัน (คิดจากค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีวอลุ่มเทรดเฉลี่ย 80,000 ล้านบาทต่อวัน) ก็จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลง
อีกทั้งหากมองในระยะยาวตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้มีจุดขายมากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งยังต้องมีการพัฒนา สร้างจุดขายกันอีกมากเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา เช่น การดึงบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มากขึ้น, ความจำเป็นที่จะมีการพัฒนาตราสารอีกหลายประเภท เป็นต้น หากไปเพิ่มต้นทุนในการลงทุน ให้กับผู้สร้างสภาพคล่อง ให้กับผู้เล่นในตลาดฯ และทำให้สภาพคล่องหดหาย
สำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการระดมทุน หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา เนื่องจากอาจจะได้เม็ดเงินไม่สูงเท่าที่ควรจะได้รับ และราคาหุ้นที่ดี เหมือนในช่วงที่มีสภาพคล่องสูง เพราะสภาพคล่องคือหัวใจของการลงทุน และการระดมทุน รวมถึงการพัฒนาตราสารใหม่ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการแข่งขันในระยะยาว
พร้อมกันนี้มองว่าสิ่งที่ตลาดหุ้นจะช่วยได้มากที่สุด คือ การทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากสามารถรักษาสภาพคล่องเอาไว้ และช่วยกันเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงช่วยให้บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กันมากขึ้น สุดท้ายแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีปริมาณสูงกว่า Transaction tax
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 65 ยังมั่นใจว่าปีนี้ผลงานจะดีกว่า (Outperfrom) เมื่อเทียบกับภาพรวม ตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตจากภาคการท่องเที่ยว หลังจากเริ่มเปิด Test and Go ช่วงเดือนก.พ.นี้อีกครั้ง และตลาดหุ้นอื่นในประเทศพัฒนาแล้วก็ปรับขึ้นไปค่อนข้างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา FETCO ยังคงคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยไว้ที่ 1,800 จุด ซึ่งน่าจะเห็นได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภายใต้เงื่อนไขนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้มีการเติบโตได้ 4% รวมถึงหากนับตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.64 ถึงปัจจุบันหรือประมาณกว่า 2 เดือน มีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาแล้วประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ด้านเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นบ้าง สะท้อนให้เห็นว่าต่างชาติเริ่มเห็นตลาดหุ้นไทยเป็นหลุมหลบภัยที่ดี เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก