BAY มองกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.15-33.65
จับตาเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
กลุ่มงานโกล.มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทว่า สัปดาห์นี้เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.15-33.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.28 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.73-33.31 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ตลาดปรับตัวผันผวนตามกระแสข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คงดอกเบี้ยไว้ตามคาด แต่ระบุว่าจะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ในไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้เดิม และเป็นการเปิดโอกาสสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อ โดยประธานอีซีบีกล่าวว่าสงครามในยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากการค้าระหว่างประเทศที่สะดุดลง รวมถึงความเชื่อมั่นที่อ่อนแอ ทั้งนี้ อีซีบีจะปิดโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme ภายในเดือนนี้ และระบุว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ APP ในอัตรา 40,000 ล้านยูโรในเดือน เม.ย.65, 30,000 ล้านยูโรในเดือน พ.ค.65 และ 20,000 ล้านยูโรในเดือน มิ.ย.65
อย่างไรก็ดี เงินยูโรขาดแรงหนุนหลังอีซีบีไม่ได้แสดงความกังวลต่อค่าเงินยูโรที่อ่อนลงแต่อย่างใด ส่วนเงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อโลกเร่งตัว และธนาคารกลางหลักหลายแห่งหันมาคุมเข้มนโยบายแม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 676 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตรสุทธิ 40,372 ล้านบาท
กลุ่มงานโกล.มาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า นักลงทุนจะยังคงติดตามสถานการณ์ในยูเครน และราคาพลังงาน รวมถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 15-16 มี.ค. 65 ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 25bp โดยจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.61 ขณะที่ตลาดจะจับตาประมาณการดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) ซึ่งคาดว่าจะบ่งชี้ถึงการขึ้นดอกเบี้ย 4-5 ครั้งในปีนี้จาก 3 ครั้งที่เฟดเคยประเมินไว้ รวมถึงการแถลงข่าวของประธานเฟด นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 25bp ในการประชุมวันที่ 17 มี.ค.65
สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความเห็นถึงสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียว่า นำมาซึ่งความผันผวนในตลาดการเงิน ค่าเงินบาทอ่อนลง โดยยังไม่สามารถประเมินในระยะถัดไปได้ว่าความขัดแย้งจะรุนแรงไปถึงขั้นใดซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันและจะดันเงินเฟ้อไทยสูงขึ้น นอกจากนี้ การคาดการณ์ของธปท.ให้น้ำหนักไปที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป แต่ภาวะสงครามเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ขณะที่กรุงศรีมองว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนที่พุ่งขึ้นรอบใหม่ อาจบั่นทอน Sentiment เกี่ยวกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนเช่นกัน