ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดบทเรียนจาก 'แบรนด์ดังระดับโลก' มุมสะท้อนปมธุรกิจครอบครัว  (อ่าน 373 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • *
  • กระทู้: 1,190
  • Popular Vote : 0
ถอดบทเรียนจาก 'แบรนด์ดังระดับโลก' มุมสะท้อนปมธุรกิจครอบครัว

ในช่วงที่ผ่านมาคอหนังหลายคนคงได้ชมภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตระกูลแฟชั่นแบรนด์ดังจากอิตาลี ที่นำเสนอเรื่องราวช่วงระหว่างการส่งต่อธุรกิจจากทายาทรุ่นที่ 2 ไปยังทายาทรุ่นที่ 3 ท่ามกลางความรุ่งเรืองของธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับปมของความขัดแย้งอันนำไปสู่ความแตกแยกและการฆาตกรรม ทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า ดูหนังดูละครแล้วให้ย้อนมาดูตัว จากพื้นฐานของครอบครัวอิตาเลียนกับครอบครัวไทยที่ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน ทำให้การจัดการธุรกิจครอบครัวมีข้อดีและข้อด้อยใกล้เคียงกัน ปมความขัดแย้งธุรกิจครอบครัวในเรื่องนี้จึงเป็นภาพสะท้อนปัญหาธุรกิจครอบครัวไทยได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ตำนานของแบรนด์มีจุดเริ่มต้นจากร้านเครื่องหนังและโรงงานเล็กๆ แต่ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในเรื่องการออกแบบและการตัดเย็บ ธุรกิจก็เติบโตขึ้นจนสามารถขยายกิจการไปยังเมืองหลวงได้ในระยะเวลาไม่นาน หลังจากนั้น ครอบครัวได้มีการแบ่งหุ้นให้กับลูกชายทั้ง 3 คน ซึ่งธุรกิจก็ยังเติบโตไปได้ด้วยดี จนได้เปิด Flagship Store ครั้งแรกที่มหานครในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะขยายตลาดไปยังเอเชีย และกลายเป็น Global Brand ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้นไม่นาน เงามืดที่บ่อนทำลายธุรกิจครอบครัวก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในทายาทรุ่นที่ 3 เมื่อทายาท 2 คนได้เปิด Boutique ของตัวเองมาแข่งกับ Boutique ของกงสี ซึ่งได้สร้างปมขัดแย้งขึ้น จนครอบครัวตัดสินใจรวมธุรกิจเข้าด้วยกันและกลายเป็นบริษัทมหาชนในที่สุด ในขณะเดียวกัน ทายาทอีกคนซึ่งได้รับมรดกจนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็เล่นงานผู้เป็นลุงให้ต้องติดคุกด้วยข้อหาเลี่ยงภาษี

แม้จะสามารถครองอำนาจในการบริหารธุรกิจได้ แต่ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผู้นี้ก็ไม่สามารถบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จนต้องขายหุ้นให้กับนักลงทุนภายนอกไปกว่าครึ่ง และแม้ว่าจะได้รายได้จากการขาย Trademark มูลค่ามหาศาล แต่บริษัทก็ยังมีสถานะการเงินที่ย่ำแย่ จนในที่สุดนักลงทุนภายนอกก็สามารถเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด อันเป็นจุดอวสานของตระกูลแฟชั่นแบรนด์ดังครอบครัวนี้นั่นเอง

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director - Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัวตระกูลนี้เป็น Classic case ที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว โดยเกิดจากหลายประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรกคือขาดการวางแผน เนื่องจากครอบครัวนี้บริหารจัดการธุรกิจแบบปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งอิงกับระบบครอบครัวที่ใช้ธรรมเนียมในการส่งต่ออำนาจในการบริหารให้กับลูกชายคนโต โดยไม่มีการกำหนดบทบาทของสมาชิกครอบครัวคนอื่นที่ชัดเจน ทำให้สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ไม่รู้สิทธิของตน ไม่มีระบบตรวจสอบผู้ที่มีอำนาจในการบริหารงาน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมและนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ง่าย นอกจากสมาชิกหลักของครอบครัวแล้ว ในกรณีของครอบครัวแบรนด์ดังจากอิตาลีนั้นยังมีเหตุจากสะใภ้ที่เข้ามามีอิทธิพลในการทำงานของสามี จนเกิดเป็นปัญหาในครอบครัวและลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม ดังนั้นยิ่งเริ่มวางแผนจัดการทรัพย์สินของครอบครัวเร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถลดความขัดแย้งได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะการวางแผนต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคนเห็นพ้องต้องกัน

ประเด็นที่สองคือการขาดกติกา โดยเฉพาะกติกาในการส่งต่อหุ้น เมื่อหุ้นตกไปอยู่ในมือของสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ทำให้มีสิทธิในแง่ของความเป็นเจ้าของและการบริหารมากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ดังนั้นจึงควรกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ในสัดส่วนเท่าๆ กัน หลายครอบครัวจึงเลือกวิธีจัดการแบบกงสี กล่าวคือ หากครอบครัวย่อยไหนมีหุ้นมากกว่าก็จะถูกริบไปเป็นของกงสี เพื่อจำกัดสิทธิให้เท่ากับบ้านอื่นๆ แต่ก็จะได้ผลตอบแทนเท่ากับหุ้นที่ตัวเองถือเหมือนเดิมซึ่งถือว่ายุติธรรม นอกจากนี้ หากไม่มีกติกาที่ชัดเจนอาจทำให้สมาชิกในครอบครัวบางคนแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง จนมองข้ามผลประโยชน์โดยรวมของธุรกิจครอบครัวได้ เช่น กรณีที่ทายาทรุ่นที่ 3 พยายามเปิดร้านของตัวเองมาขายของแข่งกับกงสี เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องความรู้สึกร่วมกัน ครอบครัวเล็กๆ มักมีความผูกพันกัน เมื่อครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น ความผูกพันดังกล่าวจะค่อยๆ จางไปจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น การรักษาคุณค่าของครอบครัว ความสามัคคี การสร้างเป้าหมายและระบบการทำงานร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้โอกาสพวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การวางกติกาครอบครัวต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่น จึงจำเป็นต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ

'สุดท้ายนี้ หากใครมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว อย่าลืมย้อนกลับมาดูธุรกิจครอบครัวของตนเองด้วยว่ามีอะไรที่เราได้ทำพลาดเหมือนตระกูลดังกล่าวหรือไม่ KBank Private Banking ในฐานะผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน 'บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว' (Family Wealth Planning Service) มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ทุกๆ ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารธุรกิจครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป' นายพีระพัฒน์ กล่าวปิดท้าย