ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ท่ามกลางความกังวลวิกฤตยูเครน
ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลักในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ยูเครน
ณ เวลา 00.19 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.25% สู่ระดับ 115.70 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.18% สู่ระดับ 130.76 เยน และร่วงลง 0.41% สู่ระดับ 1.130 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.27% สู่ระดับ 96.34
เจ้าหน้าที่สหรัฐเตือนว่ารัสเซียอาจโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ รวมทั้งในช่วงที่กำลังมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ส่วนการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขวิกฤตยูเครน
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยหนุนจากคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดควรเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้น
"ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเร็วกว่าที่คาดไว้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด" นายบูลลาร์ดกล่าวต่อสำนักข่าว CNBC
"ความน่าเชื่อถือของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเราต้องดำเนินการหลังมีข้อมูลเข้ามา แต่เราต้องทำอย่างระมัดระวังโดยไม่ให้กระทบต่อตลาด" เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ นายบูลลาร์ดสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ภายในเดือนก.ค.
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมทั้งเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 55% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. รวมทั้งให้น้ำหนัก 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือนมิ.ย.
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ได้อีกมาก" โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างพากันปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี
โกลด์แมน แซคส์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้ง
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้เช่นกัน โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
ทั้งนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกานับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้
ส่วนเอชเอสบีซีคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอีก 4 ครั้งหลังจากนั้น โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.50-1.75% ในปลายปีนี้
ทางด้านดอยซ์แบงก์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอีก 5 ครั้งหลังจากนั้น โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 1.75% ในปีนี้