41 บริษัทไทย
ติดอันดับความยั่งยืนระดับโลก S&P Global มากเป็นเบอร์ 4 ของโลก
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลท.สนับสนุนธุรกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งเสริมในหลากหลายรูปแบบ ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถบูรณาการแนวทางด้านความยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจและขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกภาคส่วน "To Make the Capital Market ?Work? for Everyone"
ปัจจุบันภาคธุรกิจไทยเห็นความสำคัญของการดำเนินงานโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) และใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจไทยจำนวนมากโดดเด่นด้านความยั่งยืนจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับสากล
ล่าสุดปี 65 S&P Global ได้ประกาศอันดับด้านความยั่งยืน (S&P Global Sustainability Awards) พบว่า บริษัทไทยผ่านเกณฑ์การประเมินและติดอันดับมากถึง 41 บริษัท ซึ่งมากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยในจำนวนนี้ เป็นบริษัทจดทะเบียน 38 บริษัท ทั้งนี้ S&P Global ได้ประเมินบริษัททั่วโลกถึง 7,554 บริษัท และคัดเลือกเหลือเพียง 716 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับดังกล่าว
S&P Global ได้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับใน The Sustainability Yearbook 2022 เมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยจัดเป็น 4 ระดับได้แก่ Gold Silver Bronze และ Member มีบริษัทไทยได้ระดับสูงสุด Gold Class รวม 8 บริษัท ได้แก่ BANPU, BTS, CPALL, KBANK, PTTGC, TRUE, TU และ Thai Beverage
ระดับ Silver Class รวม 13 บริษัท ได้แก่ ADVANC, BCP, BJC, CPF, EGCO, HMPRO, PTT, PTTEP, SCGP, SCC, SCB, TOP, และ Mitr Phol
ระดับ Bronze Class รวม 5 บริษัท ได้แก่ AOT, DELTA, GPSC, IRPC และ CP Group
และระดับ Member อีก 15 บริษัท ได้แก่ AWC, BBL, BDMS, BGRIM, BPP, CPN, CPNREIT, CRC, EA, GULF, IVL, KTC, MINT, TTB และ VGI
ผลประเมินด้านความยั่งยืนของ S&P Global เป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนทั่วโลกใช้ในการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ S&P Global ยังได้สรุปประเด็นและพัฒนาการด้านความยั่งยืนที่บริษัทจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้ S&P Global เน้นย้ำถึงวิกฤตของปัญหาภาวะโลกร้อนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทจำนวนมากยังไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจน ทำให้การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น