TPCH
เป้าปี 65 โต 30-40% ตาม COD เพิ่ม-โรงไฟฟ้าขยะ,มุ่งเป้า 250 MW ในปี 66
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 65 บริษัทเตรียมที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ พร้อมทั้ง มองหาโอกาสการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว
"โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง แม่ลาน และ บันนังสตา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/65 ขณะเดียวกัน TPCH จะทยอยรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ ที่ COD ไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึง การรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมอีก 10 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 106.8 เมกะวัตต์ จึงมั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนผลงานในปีนี้ให้เติบโตตามเป้าหมายที่ 30-40% ได้" นางกนกทิพย์กล่าว
ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า บริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทมีความสนใจเข้าลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มเติม ตามแผน PDP 2022 ฉบับใหม่ เพื่อเป้าหมายการมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขยะ 50 เมกะวัตต์ และเป้าหมายการมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของทุกประเภทอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ภายในปี 66 อีกทั้ง บริษัท ได้เข้าศึกษาธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก
"ปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการศึกษานโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐที่ได้ระบุให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยประกอบไปด้วย Bio-economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มีมูลค่าสูงสุด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด (Reuse Recycle Zero-waste) และ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน บริษัทได้มีการศึกษาร่วมกับสถาบันวิจัย และได้มีการลงทุนในธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ต่อยอดจากโครงการโรงไฟฟ้า เป็นการขยายธุรกิจออกไปในด้านอื่นนอกจากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และมีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ไปในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์ธุรกิจโลก" นายเชิดศักดิ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของปี 64 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) มีรายได้รวม 2,470.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 1,777.37 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 135.40 ล้านบาท ขณะที่งวดไตรมาส 4/64 บริษัทมีรายได้รวม 600.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 471.99 ล้านบาท
ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการ โรงไฟฟ้าชีวมวลครบ 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 106.8 เมกะวัตต์