การเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐ ฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) ซึ่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the EU) ในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕ จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมรัฐมนตรีในกรุงปารีส
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก สหภาพยุโรปและประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ เอเชีย อาเซียน ออสเตรเลีย ประเทศชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย (แอฟริกา และเอเชียใต้) และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ รวมทั้งแคนาดา เข้าร่วมการประชุมฯ รวม ๕๗ ประเทศ โดยในระหว่างการประชุมฯ จะมีการเสวนาโต๊ะกลมรายสาขาใน ๓ เวที ประกอบด้วย (๑) การป้องกันประเทศและความมั่นคง (๒) ความเชื่อมโยงและประเด็นดิจิทัล และ
(๓) ประเด็นระหว่างประเทศ (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณสุข) โดยรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมและกล่าวในเวทีประเด็นระหว่างประเทศ
วัตถุประสงค์หลักของการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นการแสดงบทบาทนำของไทยและการผลักดันผลประโยชน์ของไทยตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของอาเซียน (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific ? AOIP) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป
ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะหารือทวิภาคีกับนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และจะร่วมลงนามในแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๔) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสภายในปี ๒๕๖๗ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนผลประโยชน์ของไทยทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการหารือระหว่าง รัฐมนตรีประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมทั้งการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศอื่น ๆ ตลอดจนผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส ได้แก่ OECD และ UNESCO เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ