ผู้เขียน หัวข้อ: Media Talk: ส่องแนวโน้มธุรกิจสื่อในเอเชียแปซิฟิก ปี 2565  (อ่าน 367 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Jenny937

  • *
  • กระทู้: 644
  • Popular Vote : 0

บทความเรื่อง APAC Media Outlook หรือแนวโน้มของสื่อในเอเชียแปซิฟิกของพีอาร์นิวส์ไวร์ ซึ่งจัดทำโดยทีม Audience Development ตอนที่ 1 ได้ชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่น่าจับตาของวงการสื่อในเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนแนวโน้มของธุรกิจสื่อและสถานการณ์เด่น ๆ ในตลาดออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และ อินโดนีเซีย ในบทความตอนที่ 2 นี้ เราจะพูดถึงแนวโน้มธุรกิจสื่อในตลาดอีก 5 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย

มาเลเซีย

1. ทางเลือกที่มากกว่าเดิมในอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิง

ในช่วงที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านหลังจากที่ได้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวมาเลเซียจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรับชมข่าวสารและความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Tonton, Viu และอื่นๆ ซึ่งผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่หันมาบริโภคสื่อจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเต็มใจที่จะสมัครสมาชิกแบบเสียค่าบริการเพื่อรับชมเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ตนเองต้องการดูด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจาก PWC คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงในมาเลเซียจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอีก 5 ข้างหน้า โดยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวถึง 6.7% อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงยังต้องรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ นานา ที่เกิดจากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ผู้ให้บริการสื่อควรจะมองไปยังอนาคต กล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และพร้อมที่จะคว้าโอกาสที่จะเข้ามาในแวดวงสื่อในปีนี้

2. ผู้หญิงมีบทบาทที่โดดเด่นในวงการสื่อมากขึ้น

สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ (IFJ) และสหภาพสื่อมวลชนแห่งมาเลเซีย (NUJM) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง "การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมสื่อมาเลเซียเพื่อการเปลี่ยนแปลง" เมื่อเดือน พ.ค. 2564 โดยผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมสื่อของมาเลเซียมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นสถานการณ์ที่เห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนในมาเลเซีย ซึ่งบรรณาธิการข่าวที่เป็นผู้หญิงนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงสื่อมาเลเซียนี้ ถูกคาดหวังว่า จะมีการรายงานข่าวที่เป็นกลางมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นในสังคมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การค้าประเวณีและการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าจะทำให้เกิดระบบพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา ซึ่งจะช่วยในเรื่องการให้คำปรึกษาสำหรับผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อในอนาคตอีกด้วย

สิงคโปร์

1. งานอีเวนต์ระดับชาติจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

การจัดงานอีเวนต์แบบออฟไลน์ในปี 2564 นั้น ไม่สามารถจัดขึ้นได้เหมือนอย่างเช่นเคย เนื่องจากภาคการขนส่งต้องปฎิบัติตามมาตรการการบริหารจัดการความปลอดภัย (Safe Management Measures) ของสิงคโปร์มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการผ่อนคลายการเดินทางที่เปิดให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัวหากได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว (Vaccinated Travel Lanes) ที่ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สื่อก็จะให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นว่า การจัดงานอีเวนต์ในกลุ่มธุรกิจไมซ์ (MICE events) จะจัดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ โดยอีเวนต์ที่จะเกิดขึ้นปีนี้มีทั้งงาน World Cities Summit ในเดือนกรกฎาคม และ งาน Duty-Free & Travel Retail Asia Pacific Summit ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม

2. เมตาเวิร์สกับโอกาสที่มากขึ้นในแวดวงสื่อ

เมตาเวิร์ส (metaverse) เทคโนโลยีซึ่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ผสมผสานโลกเสมือนกับความเป็นจริงเข้าด้วยกัน ได้ถูกขนานนามว่า จะเป็น "วิวัฒนาการยุคต่อไปของอินเทอร์เน็ต" โดยเมตาเวิร์สจะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการรับชมของผู้บริโภค ตลอดจนมอบโอกาสที่ดีเยี่ยมให้แก่สื่อเพื่อให้สื่อได้ทดลองหรือสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ ในการบอกเล่าเรื่องราวและโต้ตอบกับผู้ชม ความก้าวล้ำนี้เป็นสิ่งที่วงการสื่อควรจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเมตาเวิร์สเกิดขึ้นจริง สื่อจะได้เป็นผู้เล่นรายแรก ๆ ที่สามารถมอบประสบการณ์สดใหม่ให้กับผู้รับชม

3. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) จะยังคงเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากสื่อ

ในปี 2564 บริษัทต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) มากขึ้นและให้คำมั่นว่าจะปกป้องสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายและความยั่งยืน โดยบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Dell และ Salesforce ต่างก็ให้คำมั่นว่าจะทุ่มเทเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้จะยังคงเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป และจะปรากฎเป็นหัวข้อในการรายงานข่าวเป็นครั้งคราวอีกด้วย

เกาหลีใต้

1. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมข่าวปลอม

แม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปชั่วคราว แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงในวงกว้าง ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายสื่อเพื่อให้ผู้ที่ถูกละเมิดหรือได้รับความเสียหายจากข่าวปลอม/ข่าวเท็จสามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากองค์กรข่าวได้ ทั้งนี้ ข้อเสนอให้ปรับแก้กฎหมายสื่อในครั้งนี้ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

2. การลงทุนจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชั้นนำระดับโลก

กระแสความสำเร็จแบบฉุดไม่อยู่ของซีรีส์สุดฮอตบน Netflix อย่าง "Squid Game" เมื่อปีที่แล้วนั้น ทำให้ Disney+ ผู้นำตลาดสตรีมมิ่งระดับโลกอีกรายเร่งการลงทุนในเกาหลีใต้ โดยในปีนี้ Disney+ จะขยายขอบเขตความร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในเกาหลีใต้ ซึ่งผู้ชมจะได้พบกับผลงานแสดงของนักแสดงชื่อดัง "ชเว มินซิก" อีกครั้งใน "King of Savvy" นอกจากนี้ รายงานจาก Korea Press Foundation ยังเปิดเผยว่า จำนวนผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งในเกาหลีใต้นั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

3. เทรนด์ดิจิทัลจะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมข่าว

นวัตกรรมดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมข่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสำนักข่าวระดับโลกอย่าง บลูมเบิร์กได้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในห้องปฏิบัติการข่าวเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมข่าวของเกาหลีใต้ที่พยายามนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้งาน ซึ่ง Korea Press Foundation ตั้งเป้าว่า จะทำให้อุตสาหกรรมสื่อในเกาหลีใต้เข้าสู่ระบบดิจิทัลในปี 2565

ไต้หวัน

1. สื่อสิ่งพิมพ์หันหน้าสู่ออนไลน์อย่างเต็มตัว

หนังสือพิมพ์รายใหญ่ 2 แห่งในไต้หวันได้ประกาศยุติการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และเบนเข็มเข้าสู่โลกออนไลน์ในปี 2564 ที่ผ่านมา เช่น Apple Daily ซึ่งปิดตัวหนังสือพิมพ์ลงหลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันแทน

แนวโน้มดังกล่าวนี้จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บีบให้อุตสาหกรรมสื่อต้องเร่งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักข่าว/นักหนังสื่อพิมพ์จึงต้องเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถติดตามข่าวสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในแง่ของการจัดสรรทรัพยากรบุคคลนั้น นักข่าวจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยปรับการนำเสนอข่าวสารบนพื้นที่ดิจิทัลและโซเชียลมีเดียมากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์นั้น จะต้องติดตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในยามที่ต้องนำเสนองาน

2. ประสบการณ์ที่ดีของผู้ชมสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพ

ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร สื่อต่าง ๆ ไม่เพียงแต่แข่งขันกันเพื่อรายงานข่าวเป็นรายแรก ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างสรรค์วิธีการในการนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นพอดแคสต์, ยูทูบ และแอปพลิชัน ซึ่งการแข่งขันกันดังกล่าวก็เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อได้ ดังนั้น สื่อจะต้องรู้จักตนเอง เรียนรู้ว่าข้อได้เปรียบของตนเองคืออะไร และจะสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอข่าวออกมาอย่างไรให้ข่าวที่สำคัญแต่ดูน่าเบื่อให้กลายมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตาม

ทั้งนี้ สื่อออนไลน์ต่างเชื่อว่า การผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพร่วมกับการนำเสนอที่เจาะลึกจะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้รับชมได้ ทว่าแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว สื่อควรจะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมแก่ผู้รับชมด้วย เช่น การผสมผสานประสบการณ์ของผู้รับชมให้เข้ากับเนื้อหาหรือบทความข่าวบนโลกออนไลน์

ไทย (จัดทำโดยอินโฟเควสท์)

1. แนวโน้มแห่งการบูรณาการ

ไทยจะก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตในยุคหลังโควิด-19 (the next normal) ในปี 2565 หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เนื่องจากประชาชนที่ได้รับวัคซีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2564 (ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโอไมครอนในเดือนมกราคม 2565)

ทั้งนี้ สื่อออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน นักการตลาดและนักโฆษณาเชื่อว่า หลังจากนี้จะไม่มีสื่อใดที่จะเข้าถึงผู้ชมได้ทุกกลุ่มและทุกวัยจากสื่อเพียงแพลตฟอร์มเดียวอีกต่อไป เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยมีความหลากหลายมากขึ้น บางคนอาจบริโภคข่าวสารและข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ในขณะที่บางคนอาจเสพสื่อผ่านยูทูบหรือทวิตเตอร์ นอกจากนี้ แต่ละคนอาจจะใช้แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น การใช้รูปแบบและวิธีการสื่อสารที่หลากหลายจะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

บรรดาบริษัทและธุรกิจในแวดวงสื่อ จึงต้องเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กระจายอยู่ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักสำหรับสื่อ ผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์ ดังนั้น ก่อนที่จะสื่อสารหรือผลิตงาน ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะเข้าถึงและแพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นใช้งาน เพื่อที่สื่อและผู้ออกแบบคอนเทนต์จะได้เลือกวิธีการเผยแพร่ที่เหมาะสมและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

2. การทำงานในรูปแบบผสมผสานหรือไฮบริด จะยังเกิดขึ้นต่อไป

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้น แต่คนไทยยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม สื่อมวลชนหรือผู้ผลิตคอนเทนต์จึงยังคงทำงานในรูปแบบผสมผสานหรือไฮบริดต่อไป เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในช่วงที่สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ในส่วนของนักข่าวเองก็ยังคงทำงานจากที่บ้าน ขณะที่กิจกรรมออนไลน์ เช่น งานแถลงข่าว สัมมนา และการสัมภาษณ์สื่อ ก็จะปรากฎให้เห็นมากยิ่งขึ้นในปีนี้

3. การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่แนวโน้มต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความนิยมในการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้นนั้น จะเห็นได้ว่า ในช่วงต้นปี 2565 ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มที่กำลังมาทั้งในด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ขณะที่เทคโนโลยีเสมือนจริงเองก็มีแนวโน้มว่า จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ของเมตาเวิร์สซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์แห่งอนาคตที่เกิดจาก 5G ซึ่งผสานความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือน

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์