ผู้เขียน หัวข้อ: สภาพัฒน์ คงคาดการณ์ GDP ปี 65 โต 3.5-4.5% ขยับกรอบเงินเฟ้อ 1.5-2.5%  (อ่าน 407 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Prichas

  • *
  • กระทู้: 1,059
  • Popular Vote : 0
สภาพัฒน์ คงคาดการณ์ GDP ปี 65 โต 3.5-4.5% ขยับกรอบเงินเฟ้อ 1.5-2.5%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวในช่วง 3.5 - 4.5% ซึ่งยังคงประมาณการเดิมของรอบที่แล้ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออก และแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัว 4.9% ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัว 5.9% ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุล 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาด 0.9 - 1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล อยู่ที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.5% ของ GDP

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ แม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างจำกัดในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 และส่งผลให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

"แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 65 ยังมาจากการส่งออก การลงทุนในประเทศ การเบิกจ่ายภาครัฐ ส่วนภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวเข้ามาช่วยเติมเต็ม รวมทั้งการรักษาระดับดีมานด์ในประเทศผ่านกลไกการดูแลราคาสินค้าไม่ให้สูงจนเกินไป เพื่อให้การบริโภคในประเทศสามารถเดินหน้าต่อ รวมทั้งการควบคุมการระบาดตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การระบาดอยู่ในวงจำกัด โดยไม่มีการใช้มาตรการที่เข้มข้นมากกว่าเดิม" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 65 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ ในกรณีฐาน อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส, แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ความยืดเยื้อของปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ท่ามกลางแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ และปัญหาความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับสมมติฐานสำคัญที่ใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 มีดังนี้

1. สมมติฐานด้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้น แต่ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงและเสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำ และไม่เกินไปกว่าศักยภาพระบบสาธารณสุขที่จะบริหารจัดการได้ โดยไม่ปรับเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มเติม รวมทั้งไม่มีการระบาดระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

2. เศรษฐกิจโลกในปี 65 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวได้ 6.0%

3. ค่าเงินบาทในปี 65 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 32.20 - 33.20 บาท/ดอลลาร์

4. ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 72 - 82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

5. ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในรูปของดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5-1.5% และ 1.0-2.0%

6. รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน

7. การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ที่ 93.5% ของงบประมาณ แบ่งเป็น อัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ที่ 98% และอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ที่ 75% ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่ 70% ของวงเงินงบประมาณ

นายดนุชา กล่าวด้วยว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 65 ควรให้ความสำคัญกับ 9 เรื่อง ดังนี้

1. การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดยให้ความสำคัญกับการเร่งกระจายวัคซีนให้เพียงพอ ครอบคลุมทั่วถึง รวมทั้งการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สถานการณ์ การควบคุมการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการเตรียมความพร้อมรองรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

2. การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดย่อมที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องและภาระหนี้สิน

3. การรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และการท่องเที่ยวภายในประเทศ

4. การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน เพื่อลดข้อจำกัดการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ

5. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต

6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนจริง ซึ่งหากทำได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจของปี 2565 ขยายตัวได้ดีขึ้น

7. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้งในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 93.4% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และวงเงิน 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ

8. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก ควบคู่ไปกับการรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง

9. การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/65 ว่า หากพิจารณาจากดัชนีเศรษฐกิจรายเดือนในเดือนม.ค. ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกน่าจะยังขยายตัวได้ดี ยกเว้นแต่ในช่วงปลายไตรมาสจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามาทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้ แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดเข้ามา disrupt กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกนี้

พร้อมยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้พอสมควร ซึ่งทั้งนี้ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบกันด้วย เช่น ราคาพลังงานโลก และนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งเชื่อว่าในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะได้นำปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการพิจารณาการทำนโยบายการเงินของไทย