'เจพีมอร์แกน' เผย
นักลงทุนมองเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญสุดต่อแนวโน้มตลาดปี 65
เจพีมอร์แกนเผยผลสำรวจความคิดเห็นประจำปีระบุว่า นักลงทุนมองว่า ภาวะเงินเฟ้อจะยังส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลกในปี 2565 ขณะที่สภาพคล่องยังเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งในการซื้อขายรายวันต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นลูกค้าที่เป็นนักลงทุนกลุ่มสถาบัน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนพ.ย. 2564 โดยระบุว่า นักลงทุน 48% จาก 718 รายยกให้ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยชี้นำตลาดที่สำคัญที่สุด แทนที่โรคระบาดเมื่อปีที่แล้ว โดยตลาดมีการคาดการณ์เพิ่มขึ้นถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะที่ความหวังว่า แนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ ได้ลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศใหญ่ ๆ พุ่งสูงขึ้น
นักลงทุนยังมองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติและโรคระบาดเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดโลกรองลงมาในระดับเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 13%
นายสกอตต์ แวคเกอร์ หัวหน้าฝ่ายขายอีคอมเมิร์ซ FICC ของเจพีมอร์แกน กล่าวว่า 'สิ่งที่เราคาดการณ์ก็คือ ปัจจัยดังกล่าวและความกังวลจะนำไปสู่กิจกรรมทางการตลาดและความผันผวนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยภาวะเงินเฟ้อจะยังคงมีความสำคัญต่อสภาพคล่องและการกำหนดราคา ซึ่งยังคงเป็นผลดีต่อการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์'
ผลสำรวจระบุว่า การซื้อขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนักลงทุนคาดว่า แนวโน้มขาขึ้นนี้จะดำเนินต่อไปในอีกสองปีข้างหน้า
นายแวคเกอร์ยังระบุว่า 'เราเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติเนื่องจากโรคระบาดมาสองปีแล้ว เห็นได้ว่า ลูกค้าจำนวนมากหันไปทำงานที่บ้านแทนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงมาก แต่ก็เป็นแรงหนุนให้การซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น'
ขณะที่นักลงทุน 29% มองว่า แอปพลิเคชันการซื้อขายบนมือถือมีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิงซึ่งคาดว่า จะแซงหน้าเทคโนโลยีมือถือในอีกไม่ช้าและก้าวขึ้นมาเป็นปัจจัยที่อิทธิพลหลัก
ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจราวครึ่งหนึ่งระบุว่า การเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิงจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดอนาคตของการซื้อขายในช่วง 3 ปี ตามด้วยบล็อกเชนซึ่งอยู่ที่ 24%
นอกจากนี้ การลงทุนในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศยังแซงหน้าตราสารหนี้ ในแง่ของสัดส่วนการซื้อขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอยู่ที่ 69% โดยนักลงทุนในเงินตราต่างประเทศคาดว่า แนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 85% ภายในปี 2566