ผู้เขียน หัวข้อ: รมว.พลังงาน นัดถกค่ายรถยนต์ถกสัปดาห์หน้า หลังครม.ไฟเขียวลดภาษีหนุนใช้รถ EV  (อ่าน 323 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • *
  • กระทู้: 931
  • Popular Vote : 0
รมว.พลังงาน นัดถกค่ายรถยนต์ถกสัปดาห์หน้า หลังครม.ไฟเขียวลดภาษีหนุนใช้รถ EV

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน จะหารือร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ในเรื่องโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ ซึ่งเบื้องต้นค่ายรถส่วนใหญ่ก็พร้อมจะดำเนินการ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบตามที่กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต เสนอให้พิจารณามาตรการภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถสันดาปภายในมาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

รมว.คลัง กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 นั้น กรมศุลกากร ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ดังนี้

1. เสนอร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (Completely Buildup : CBU) ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อลดอัตราอากร หรือยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับการนำเข้ารถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

1.1 ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

(1) การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิม 80% เหลือ 40%

(2) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร

(3) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรอีก 40%

1.2 ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 - 7 ล้านบาท

(1) การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิม 80% เหลือ 60%

(2) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร

(3) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรอีก 20%

2. ดำเนินการศึกษาและพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างประกาศกระทรวงการคลัง มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 การยกเว้นอากรชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว

2.2 การผลิตหรือประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรี ให้มีการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV)

รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพสามิต ได้เสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ดังนี้

1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น

2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน

3. การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 พ.ศ. 2571 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตรา 8% เหลืออัตรา 2% เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

4. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 0% เป็นการชั่วคราวจนถึง พ.ศ. 2568

5. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver - Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต 1% จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ดังนี้

1. ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป

2. ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC

3. ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 หรือที่สูงกว่า หรือ UN Regulation No.75 หรือที่สูงกว่า

4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่นี้ จะทำให้รถยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอร์นไดออกไซด์ (CO2) ลง เพื่อรับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวก็จะเสียภาษีแพงขึ้น เช่น รถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อคัน มีการปล่อย CO2 ที่ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร ปัจจุบันเสียภาษี 30% อัตราใหม่เสีย 29% ในปี 2569 และถ้าไม่มีการปรับลดการปล่อย CO2 ลง ในปี 2571 จะเสียภาษี 31%, และในปี 2573 จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 33% หรือภาษีจะปรับเพิ่มขึ้นรอบละ 2% ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่ 1.7 ล้านบาท จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 3.4 หมื่นบาทต่อรอบภาษี หากค่ายรถไม่มีการปรับเทคโนโลยีอะไรเลย

"คาดว่าค่ายรถยนต์ต่าง ๆ น่าจะเร่งปรับตัว ปรับเทคโนโลยี เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างภาษี และให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในอัตราที่ต่ำลง ให้สามารถทำราคาสู้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยโครงสร้างภาษีแบบใหม่ จะคิดภาษีตามการปล่อย CO2 เท่านั้น แต่ไม่คิดการปล่อยค่า PM" นายณฐกร กล่าว