ผู้เขียน หัวข้อ: 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวที iBusiness Forum  (อ่าน 300 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Jenny937

  • *
  • กระทู้: 644
  • Popular Vote : 0
'ศุภชัย เจียรวนนท์' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวที iBusiness Forum เสนอ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญสร้างประเทศไทยสู่โอกาสใหม่บนเวทีโลก

ซีอีโอเครือซีพี 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวที iBusiness Forum เสนอ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญสร้างประเทศไทยสู่โอกาสใหม่บนเวทีโลก ปฏิรูปภาคเกษตร-สร้างฮับโลจิสติกส์-ดึงดูดคนเก่งผ่านธุรกิจสตาร์ทอัพ แนะไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสใช้จุดแข็งด้านเกษตร-อาหาร เร่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security)หลังทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อ-ราคาอาหารสูง-สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนส่งผลต่อการผลิตอาหารทั่วโลก

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้รับเชิญเข้าร่วมในงานสัมมนา iBusiness Forum 2022 ภายใต้หัวข้อ '2022 Next Economic Chapter: New Challenges And Opportunities เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่' จัดโดย IBusiness สื่อในเครือผู้จัดการ ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยในงานสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และผู้บริหารองค์กรภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ มาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ (Webinar)กว่า 350 คน

ในโอกาสนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพีได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ 'กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2565 ฝ่าวิกฤต สู่โอกาสใหม่ที่ยั่งยืน' ว่า ความท้าทายและโอกาสที่เป็นวาระสำคัญระดับโลกที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศไทยให้เข้าสู่การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ได้นั้นอยู่ภายใต้ 3 เรื่องหลัก คือ 1.การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำ 2.การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ 3.การรับมือเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดีขึ้น

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจระดับโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สำหรับประเทศไทยในปี 2565 คาดการณ์จีดีพีจะเติบโตที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการกลับมาเติบโตหลังวิกฤตโควิด-19 แม้จะยังไม่เท่ากับในช่วงก่อนหน้าเกิดวิกฤตโรคระบาด ซึ่งปัจจัยสำคัญยังเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รอการฟื้นตัว และสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยยังดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไม่มากพอ อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าภายในปีนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากนี้ปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะหน้าของปีนี้ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ สถานการณ์ขัดแย้งในประเด็นรัสเซีย ยูเครน และนาโต้ ที่จะเป็นปัจจัยเสริมความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากขยายจนเป็นสงครามประเมินว่าภูมิภาคอาเซียนและไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น มีการเตรียมขั้นดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา เมื่อมองมาที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมของประเทศเอง โดยต้องพิจารณาถึงความต้องการการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในสัดส่วนน้อยกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกแม้จะมีสถานการณ์โควิด ตลอดจนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังทำให้เห็นว่าศักยภาพระบบการเงินการคลังในประเทศไทยเข้มแข็งพอสมควร ดังนั้นโอกาสนี้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และการให้อินเทนซีฟจูงใจนักลงทุน จึงควรเน้นไปที่เรื่อง Digital Transformation เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็น Technology Hub , Logistic Hub ในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างภูมิทัศน์ใหม่ (Landscape Changing) ทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

นายศุภชัย ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้านที่ประเทศไทยควรเร่งปรับตัว คือ 1.ปฏิรูปภาคการเกษตร ส่งเสริมเอสเอ็มอี และรักษาความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งในทุกวิกฤตมีโอกาส ประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเกษตรและอาหารที่ดีและเข้มแข็ง หากสามารถพัฒนาเป็นฐานเทคโนโลยีด้าน Food Technology ได้ จะส่งผลให้ไทยได้เปรียบในระดับภูมิภาคและโลกในฐานะประเทศที่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ เนื่องจากปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกผันผวนต่อเนื่อง ตลอดจนปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นจากสถานการณ์ของราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบเกษตร และอาหารตลอดจนปศุสัตว์มีแนวโน้มขาดตลาด โอกาสนี้หากประเทศใดสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารได้และรักษาต้นทุนวัตถุดิบได้ดีพอจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้

2.การเป็นศูนย์กลางโลจิสกติกส์ ที่เชื่อมโยง Technology Hub อาทิ การเร่งเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟไทย-จีน เข้าสู่ประเทศไทยผ่านทาง จ.หนองคาย นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา จะส่งผลให้อีอีซีแจ้งเกิดทันทีในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นโลจิสติกส์ฮับระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังต้องเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยกระดับจากเดิมที่เราเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์เชื่อมโยงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องแบตเตอรี่ไฟฟ้า พลังงงานสะอาด จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโตอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น

3.เร่งดึงดูดคนเก่ง สร้างคนที่มีความรู้ความสามารถด้านทักษะดิจิทัลต่างๆ ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาสร้างผู้ประกอบการระดับสตาร์ทอัพต่างๆขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจยุค 4.0 โดยขณะนี้ภาครัฐได้พิจารณายกเว้นภาษี Capital Gain Tax เพื่อดึงดูดการลงทุนสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ คาดว่าจะช่วยให้นักลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (VC) และธุรกิจสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของคนไทยให้เติบโตขึ้นไปด้วยกัน ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้าและทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างคนที่มีศักยภาพเข้ามาในประเทศไทยได้จำนวนมาก

นายศุภชัย กล่าวว่า วันนี้เครือซีพีได้เร่งปรับตัวสร้างการเติบโตภายใต้แนวคิดโตไปด้วยกันโดยไม่เหลื่อมล้ำผ่านการสร้างงานและสร้างธุรกิจที่เชื่อมโยงให้เป็น 'แพลทฟอร์มแห่งโอกาส' ที่ใช้แพลทฟอร์มของทุกธุรกิจในเครือซีพีเชื่อมโยงไปสู่การสนับสนุนเอสเอ็มอี และเกษตรกร โดยซีพีได้นำองค์ความรู้ด้านการตลาด ความต้องการด้านสินค้าของจีน อินเดีย กลุ่มอาเซียน เอเชีย ยุโรป มาร่วมมือกับธุรกิจเอสเอ็มอีและเกษตรกรให้เติบโตไปด้วยกันตามยุคของเศรษฐกิจรูปแบบ Sharing Economy

ซีอีโอเครือซีพี กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อนองค์กรในยุคต่อไปสิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด หรือ มายด์เซ็ทที่จะยอมปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อพร้อมรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ โดยไม่กลัวและไม่ยึดติดต่อความสำเร็จในอดีต ซึ่งซีพียึด 5 หลักการในการปฏิรูปองค์กรและสามารถปรับใช้ได้ทุกองค์กร ประกอบด้วย 1.ความโปร่งใสของข้อมูล 2.การเชื่อมโยงกลไกลตลาด 3.สร้างผู้นำการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง 4.การให้อำนาจคนรุ่นใหม่ 5.การปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจเพื่อสร้าง S-Curve ใหม่ จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราลงมือทำกล้าที่จะรีโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจและวางวิสัยทัศน์ใหม่ เป็นการปรับตัวและดิสรัปต์ตัวเองเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลก