ผู้เขียน หัวข้อ: อนุสรณ์ เผยสงครามรัสเซียกระทบศก.ไทยวงจำกัด แต่อาจเสี่ยงภาวะ Stagflation  (อ่าน 313 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ deam205

  • *
  • กระทู้: 1,097
  • Popular Vote : 0
อนุสรณ์ เผยสงครามรัสเซียกระทบศก.ไทยวงจำกัด แต่อาจเสี่ยงภาวะ Stagflation

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก การลงทุนระหว่างประเทศ และตลาดการเงินโลกอย่างชัดเจน รัฐบาลรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากชาติตะวันตก ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น และตลาดการเงินโลกและระบบการชำระเงินระหว่างประเทศของรัสเซียมีความปั่นป่วน

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะ Stagflation มีเงินเฟ้อสูงควบคู่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบหรือชะลอตัวในหลายประเทศ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ทันที หลังรัสเซียประกาศรุกรานยูเครน ราคาทองคำจะทดสอบ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาทองคำรูปพรรณในประเทศทะลุระดับ 32,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำได้

ในขณะเดียวกัน ราคาโลหะ ราคายางพาราในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกก๊าซนีออนบริสุทธิ์เกือบ 70% ให้กับทั่วโลก ซึ่งใช้ในการแกะแบบแผงวงจรให้เป็นแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ (silicon wafer) เพื่อใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ปัญหาขาดแคลนชิปจะรุนแรงขึ้น ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาสูงขึ้น การผลิตรถยนต์ มือถือ คอมพิวเตอร์อาจเกิดการชะงักงันได้ กระทบต่อการส่งออกรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยและอาเซียนระดับหนึ่ง

"ราคาน้ำมัน มีโอกาสทดสอบระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในเดือนมี.ค. หากสงครามรัสเซียยูเครนขยายวง และโอเปคไม่เพิ่มกำลังการผลิต ราคาน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation เนื่องจากประเทศพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและน้ำมันในระดับสูง แต่จะไม่กระทบมากเท่าประเทศในยุโรปและรัสเซีย " นายอนุสรณ์ ระบุ
ด้านตลาดการเงินโลกปั่นป่วน ตลาดหุ้นในประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจปรับฐานล่าสุด ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขาลงรอบใหม่ ตลาดหุ้นนิวยอร์กและตลาดหุ้นในยุโรปมีโอกาสแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับรัสเซีย จะกระทบหนักจากการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจรัสเซียและค่าเงินรูเบิล หรือประเทศที่ต้องพึ่งพานำเข้าพลังงานและน้ำมัน จะได้รับผลกระทบมาก

นายอนุสรณ์ มองว่า หากสงครามขยายวงเป็นสงครามในยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่รุนแรงเท่าการแพร่ระบาดโควิด และล็อกดาวน์เศรษฐกิจเมื่อปี 63 แต่น่าจะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของบางประเทศ ทิศทางขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยโลกชะลอตัว และธนาคารกลางอาจตัดสินใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. เพื่อประคับประคองตลาดการเงิน

ทั้งนี้ ประเด็นใหญ่ คือ ปัญหาวิกฤติพลังงานในยุโรปตะวันตก หากรัสเซียเลิกส่งออกพลังงานไปยุโรป เพราะยุโรปตะวันตกต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย 1 ใน 3 ของอุปสงค์ทั้งระบบ โดยต้องพึ่งพาน้ำมันประมาณ 25% จากรัสเซีย และก๊าซธรรมชาติ 44% จากรัสเซีย ขณะที่ราคาข้าวสาลี และราคาขนมปังก็จะปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นยังอยู่ในวงจำกัด แต่ตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทยังทรุดตัวได้อีก ตลาดสินค้าส่งออกของไทยโดยภาพรวมอาจชะลอตัว ยกเว้นสินค้าเกษตรส่งออกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ส่วนผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจรัสเซียโดยตรงยังมีจำกัด เพราะมูลค่าการค้าระหว่างรัสเซียกับไทยอยู่ในระดับ 1,000-1,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก แต่ในปีนี้คงจะหดตัวแน่นอน และค่าเงินรูเบลก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงด้วย

ด้านราคาข้าว (ข้าวสาลีแพงและอาจขาดแคลน) และราคายางพารา (น้ำมันแพง ยางสังเคราะห์แพง) จะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมระดับหนึ่ง ขณะที่ทองคำยังอยู่ในช่วงแรกของขาขึ้น สัญญาณของการเกิดภาวะ Stagflation เริ่มชัดเจนขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก

นายอนุสรณ์ ระบุว่า สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้ คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น และทำงานต่ำระดับ มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย มีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงาน และการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การชะงักงันระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นยังดำรงอยู่ ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชะงักงันของระบบจัดส่งโลจิสติกส์ ปัญหาการแพร่ระบาดและการติดเชื้อสูงระลอกใหม่น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงงานภาคการผลิตได้

"ดังนั้น การจัดเตรียมงบประมาณ เพื่อเตรียมใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาว มาตรการควบคุมเงินเฟ้อและค่าครองชีพ มาตรการสาธารณสุขรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ควรมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สิน มากกว่าการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม" นายอนุสรณ์ ระบุ