เครดิตบูโรย้ำสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึง
ข้อมูลเครดิตของตนเอง จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) มุ่งพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง เพื่อให้ทราบประวัติทางการเงินของตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด อีกทั้งจะเป็นการช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันกลลวงภัยการเงินไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันอีกด้วย สามารถตรวจเครดิตบูโรได้หลากหลายช่องทางที่อำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการตามไลฟ์สไตล์ได้ง่าย ๆ รวดเร็ว สะดวกสบายยิ่งขึ้น
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า "เครดิตบูโรมุ่งพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทราบประวัติทางการเงินของตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล โดยการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง รวมทั้งช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันกลลวงภัยการเงินไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนขอกู้จากสถาบันการเงินอีกด้วย ปัจจุบันเครดิตบูโรเพิ่มช่องทางการตรวจข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของข้อมูลเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในสังคมยุคดิจิทัล โดยล่าสุด เครดิตบูโรมอบสิทธิพิเศษแทนคำขอบคุณสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตรวจเครดิตบูโร..ฟรี ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ท่าวังหลัง ใช้บริการผ่าน "ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส)" รับรายงานเครดิตบูโรรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ฟรี! ทางอีเมลได้ทันที ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565"
สำหรับความสำคัญและเหตุผลดี ๆ ของการตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ คือ 1) ช่วยเช็กว่าเรามี "หนี้งอก" โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่ 2) เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่ 3) ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ 4) เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ 5) เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่ 6) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ ทั้งนี้ กรณีที่ท่านตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง
ท่านสามารถตรวจเครดิตบูโรได้หลากหลายช่องทางที่สะดวกและรวดเร็ว ดังนี้ 1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้ภายใน 15 นาที ใช้บัตรประชาชนของตนเอง ได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2 หรือเครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 หรือสถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง หมอชิต และชิดลม (ภายในสถานี) ท่าวังหลัง และห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 2) โมบายแอปพลิเคชัน (แอป) เลือกรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล แบบรับรายงานได้ทันที ผ่านแอป "KKP Mobile" (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) หรือเลือกแบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป "Krungthai NEXT" (ธนาคารกรุงไทย) แอป "MyMo" (ธนาคารออมสิน) หรือเลือกรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป "ttb touch" (ธนาคารทีทีบี) 3) แบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) กรุงไทย กรุงศรี ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ ธ.ก.ส. หรือใช้บัตร ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์ หรือผ่านธนาคารออนไลน์ กรุงไทย กรุงศรี หรือเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ 4) ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) ผ่านแอป "ทางรัฐ" หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หรือตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ทุกแห่ง (สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง หมอชิต ชิดลม (ภายในสถานี) สถานีกลางบางซื่อ ท่าวังหลัง และชั้น 4 ศูนย์การค้า ดิ อเวนิว รัชโยธิน กรุงเทพฯ) หรือที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
สิทธิพิเศษตรวจเครดิตบูโร?ฟรี! สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ณ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร "ท่าวังหลัง" (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือและใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อเป็นการขอบพระคุณและให้กำลังใจแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแกนหลักในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันความสูญเสียให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพียงแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่เครดิตบูโร รับอีคูปองสำหรับใช้บริการตู้คีออส เพื่อรับรายงานเครดิตบูโรรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ฟรี! ทางอีเมลได้ทันที (เฉพาะบุคคลธรรมดา ไม่รวมบริการตรวจเครดิตสกอริ่ง สงวนสิทธิ์เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการด้วยตัวเอง และหลักฐานที่นำมาแสดงต้องเป็นของตนเองเท่านั้น) เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.ncb.co.th หรืออีเมล
consumer@ncb.co.thเครดิตบูโรตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่อง "การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ ภายในศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัย ตรวจอุณหภูมิ บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จัดลำดับการเว้นระยะห่าง ระหว่างการให้บริการ การชำระเงินผ่าน QR Code เพื่อลดการสัมผัส และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแนะนำไว้ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม เป็นที่เรียบร้อยและผ่านการตรวจแบบเร่งด่วน (ATK) ก่อนมาปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ
(ในภาพ) รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลและนางสาวอรภัทร รังษีวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ร่วมเชิญตรวจเครดิตบูโรอย่างสม่ำเสมอตามสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง และเชิญแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ตรวจเครดิตบูโร (ฟรี) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร "ท่าวังหลัง" (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือและใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช) ณ บูโร แล็บ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ท่าวังหลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้
ข่าวเครดิตบูโร 005/2565 : เครดิตบูโรย้ำสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด