พาณิชย์ หนุนใช้ FTA-RCEP ขยายตลาดยางพาราเพิ่ม หลังปี 64
ยอดส่งออกโต 28.3%
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามข้อมูลการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง โดยได้รับรายงานว่า ไทยยังคงส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางสู่ตลาดโลกได้ดี และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางอันดับ 4 ของโลก
ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มตลาดสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางจะเติบโตมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และมีความต้องการยางพาราในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าผลิตภัณฑ์ยางทั้งกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนถุงมือยาง และอุปกรณ์ยางทางการแพทย์ จึงได้สั่งการให้กรมฯ เร่งศึกษาช่องทางเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA)
"ผู้ประกอบการไทย ควรพัฒนาการแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูง ทั้งคุณสมบัติด้านความทนทาน ยืดหยุ่นสูง ลดการสั่นสะเทือน และป้องกันกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งการส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง จะช่วยให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยเป็นที่ต้องการของโลก และครองความเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายสินิตย์ ระบุ
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทย สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ายางพารา คู่ FTA 16 ประเทศของไทย ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ยกเลิกภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว คงเหลือ 2 ประเทศ คือ อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าน้ำยางธรรมชาติ 70% และยางแผ่นรมควัน 20% และจีน เก็บภาษียางพารา 20%
ส่วนสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง คู่ FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ยางทุกรายการจากไทยแล้ว คงเหลืออีก 4 ประเทศ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางบางรายการ อาทิ จีน เก็บภาษียางสังเคราะห์ 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษียางสังเคราะห์และเส้นด้ายยาง 5% อินเดีย เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง และของที่ทำด้วยยาง อาทิ rubber band 5% และชิลี เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่งและรถบัส 0.7% และจะลดเป็นศูนย์ในปี 2566
นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 จีนได้ลดภาษีสินค้ายางสังเคราะห์เพิ่มเติมให้ไทย และจะทยอยลดลงจนเหลือศูนย์ ในปี 2584 และเกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าเส้นด้ายยางจนเหลือศูนย์ในปี 2580 และลดภาษียางสังเคราะห์คงเหลือเพียง 4%
สำหรับในปี 2564 ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางสู่ตลาดโลก มูลค่า 20,059.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28.3% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการส่งออกยางพารา มูลค่า 5,590.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 58.6% และผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 14,469.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.4% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีนมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 9,762.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 48.6% ของการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดของไทย ขยายตัว 23.5% จากปีก่อนหน้า โดยส่งออกยางพาราไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 3,771.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 50.4% คิดเป็นสัดส่วน 67.4% ของการส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทย
โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 รองลงมาคือ อาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยาง และยางแผ่นรมควัน และไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 5,990.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.% คิดเป็นสัดส่วน 41.4% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางล้อ ยางสังเคราะห์ และถุงมือยาง