ผู้เขียน หัวข้อ: PTT คาดรายได้ปีนี้โตต่อเนื่องรับน้ำมันพุ่ง,สรุปสุดท้ายลงทุน รง.รถ EV ใน Q2  (อ่าน 412 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ PostDD

  • *
  • กระทู้: 929
  • Popular Vote : 0
PTT คาดรายได้ปีนี้โตต่อเนื่องรับน้ำมันพุ่ง,สรุปสุดท้ายลงทุน รง.รถ EV ใน Q2

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปี 65 โตต่อเนื่องจากปีก่อนที่ทำได้ 2.258 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ที่ 81-86 เหรียญฯ/บารเรล สูงกว่าปีก่อนที่ระดับ 69.2 เหรียญฯ/บาร์เรล

ปัจจัยหนุนมาจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาปรับขึ้นแตะ 100 เหรียญฯ/บาร์เรล รวมถึงความไม่สงบในตะวันออกกลาง ความกังวลจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่จะกดดัน Sentiment ตลาด ขณะที่กลุ่ม OPEC ยังคงมติการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามเดิม

ส่วนการกลั่นสิงคโปร์ (GRM) ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5.4-6.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าปีก่อนที่ 3.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

บริษัทวางงบลงทุน 5 ปี (65-69) ที่ 102,165 ล้านบาท โดยจะลงทุนในธุรกิจหลัก 80% ประกอบด้วย กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 7 และ 8, ท่อส่งก๊าซธรรมชาติบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 68, ท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้, โครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 ต.หนองแฟบ จ.ระยอง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3

อีก 16% จะลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) และธุรกิจใหม่ต่างๆ ผ่านทาง Innobic (Asia) Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูก PTT ในเรื่องของ Lifestyle รวมถึงการลงทุนในเรื่องของ Venture Capital และใน EECi ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในการจัดตั้งสำนักงานต่างๆ

นอกจากนี้ ปตท.ยังจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 238,000 ล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต มุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาด ประกอบด้วย การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน วางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 73 และบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนกำไรสุทธิจากธุรกิจใหม่-พลังงานอนาคตมากกว่า 30% ในปี 73 จากปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง 5%

นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนงบลงทุน 5 ปี (65-69) ของทั้งกลุ่ม ปตท. มีประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น ราว 54% เช่น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทย จากแหล่งบงกช เอราวัณ และโครงการต่างประเทศ จากโมซัมบิก แอเรีย 1, โครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และเซาท์เวสต์ เวียดนาม

ส่วน 31% จะใช้ในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เช่น รองรับการซื้อกิจการ Allnex Holding ของบมจ.พีทีที โกล. เคมิคอล (PTTGC), โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP), การขยายธุรกิจ Oil-Non Oil ทั้งในประเทศและต่างประเทศของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR), โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) ของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และอีก 4% จะใช้ในธุรกิจไฟฟ้า ในโครงการพลังงานทดแทนต่างๆ ของบมจ.โกล. เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

อย่างไรก็ตาม ด้วยแผนงานและงบลงทุนดังกล่าวของกลุ่มปตท. ตามกรอบวิสัยทัศน์ "Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต"

Future Energy จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมี GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ในปี 73
พร้อมจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย คาดว่าในไตรมาส 2/65 จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FDI) ในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เฟสแรกจะผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 67 กำลังการผลิต 50,000 คัน/ปี และจะขยายไปถึง 150,000 คัน/ปีภายในปี 73 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าหลายราย

พร้อมกันนี้ จัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็นหลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ GPSC ในการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain)

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่า EV บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุง EV นอกจากนี้ ARUN PLUS ยังได้จำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในทำเลศักยภาพ พร้อมขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ของ Swap & Go

ตลอดจนจัดตั้ง บริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ

Beyond รุกธุรกิจใหม่ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) โดยมี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อินโนบิก ได้ร่วมนำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ด ให้กับประเทศเพื่อดูแลประชาชน
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันและเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization)