BAM คาดสรุปร่วมทุนตั้ง AMC ใน Q2/65 พร้อม
ต่อยอดบริหารหนี้ไม่มีหลักประกัน
นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์และบริการผู้ถือหุ้น ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่วมทุนจัดตั้งธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) กับสถาบันการเงินพันธมิตรนั้น หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปลดล็อกด้านกฎระเบียบไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาในไตรมาส 2/65 โดยที่ในช่วงแรกจะทำ AMC ที่บริหารจัดการหนี้ที่มีหลักประกัน
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (Clean loan) ซึ่งเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจของ BAM ในธุรกิจใหม่ และสร้างรายได้ใหม่ๆ เข้ามาให้กับบริษัท เนื่องจากบริษัทมองเห็นโอกาสทางการตลาดของธุรกิจบริหารจัดการหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เพราะยังมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดไม่มาก และบริษัทมีความชำนาญในการบริหารหนี้ที่มีหลักประกันมาก่อน จึงเห็นโอกาสที่ดีในการเข้าสู่กลุ่มหนี้ที่ไม่มีหลักประกันด้วย อีกทั้งปริมาณหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีอยู่มากถึง 1 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทยังมีโอกาสเข้าไปชิงส่วนแบ่งในการบริหารจัดการได้มากเช่นกัน
นายรฐนนท์ กล่าวว่า บริษัทมองว่าธนาคารพาณิชย์จะมองหาพันธมิตรที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการหนี้เป็นเฉพาะด้าน อย่างเช่น BAM ที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการหนี้ที่มีหลักประกัน ทำให้บริษัทมีโอกาสมากในการที่พันธมิตรจะมีความสนใจเข้าร่วมทุน ส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักประกันนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีความชำนาญมากกว่า แต่บริษัทก็ไม่ปิดโอกาสในการต่อยอดธุรกิจในการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งยังคงต้องรอดูเหมาะสมของการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนในการตั้งธุรกิจใหม่อาจจะมีผลขาดทุนจากการบริหารจัดการในช่วง 1-2 ปีแรก แต่บริษัทมองว่าสิ่งที่ได้เข้ามาชดเชยคือ รายได้จากการบริหารจัดการหนี้ และรายได้จากการขาย NPA ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตรจะมีการนำหนี้เสียออกมาขายให้กับบริษัทร่วมทุนเพื่อนำไปบริหาร ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีหนี้เสียลดลง และมีรายได้จากดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทร่วมทุน
ขณะที่ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ถือเป็นการที่สามารถช่วยให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายในการสำรวจทรัพย์ จากการที่มีเครือข่ายและพนักงานของไปรษณีย์ไทย ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ในทำเลต่างๆ มีความคล่องตัวในการเดินทางไปสำรวจทรัพย์ มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ และสามารถช่วยเหลือในการประเมินทรัพย์ได้เบื้องต้น ทำให้สามารถช่วยให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานไปสำรวจทรัพย์ได้ค่อยข้างมาก และบริษัทก็สามารถช่วยไปรษณีย์ไทยในด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมการขาย และอาจจะมีการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือไปยังบริการอื่นๆได้เช่นกัน
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจของ BAM ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าซื้อหนี้ NPL ไว้ที่ 9 พันล้านบาท โดยคาดว่าสถาบันการเงินจะนำหนี้ออกมาขายในปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อนที่กว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการติดตามการเปิดขายหนี้ NPL แต่คาดว่าจะทำได้ดีขึ้น เพราะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เหมือนปีก่อน ทำให้การขายทรัพย์ของกรมบังคับคดีดำเนินการได้ตามปกติ
ขณะที่ตั้งเป้าหมายการเรียกเก็บหนี้ไว้ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การเรียกเก็บ NPL ราว 1.04 หมื่นล้านบาท และ NPA ราว 7 พันล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผลการเรียกเก็บหนี้ในระดับที่บริษัทพอใจ และคาดว่าไตรมาส 1/65 จะเป็นไปตามเป้าหมายเรียกเก็บหนี้ NPL ที่ 2.27 พันล้านบาท และ NPA 1.4 พันล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/65 ตั้งเป้าเรียกเก็บ NPL ไว้ที่ 2.52 พันล้านบาท และ NPA 1.34 พันล้านบาท
ด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 65 สำหรับแผนระยะสั้นจะเน้นการลดระยะเวลาคืนทุน ประกอบด้วย เพิ่มจำนวนลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้และผู้ซื้อทรัพย์ NPA แบบขายผ่อนชำระ ส่วน NPL จะยืดหยุ่นเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงยังคงเดินหน้าขยายช่องทางออนไลน์ ประมูลทรัพย์ออนไลน์ ทั้งการดำเนินการในด้านราคา และกลยุทธ์พิเศษเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุน High net-worth
ส่วนกลยุทธ์ระยะกลางและระยะยาว จะเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล Asset light model-Joint Venture รวมถึงจัดตั้งหน่วยธุรกิจหนี้ไม่มีหลักประกัน (หลังจากขายทอดตลาดหลักประกันแล้ว) การขยายกลุ่มลูกค้า การนำหลัก ESG มาใช้เป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ และการปรับโครงสร้างภายในองค์กรและการส่งต่อความรู้สู่พนักงานรุ่นใหม่