ผู้เขียน หัวข้อ: ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร GUNKUL ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable  (อ่าน 344 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0
ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร GUNKUL ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความมั่นคงของกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ตลอดจนประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรหรือบูรณาการในแนวดิ่ง (Vertical Integration) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากสภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีความท้าทายมากขึ้นรวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่การผลิตไฟฟ้า อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงในการดำเนินการของธุรกิจกัญชงและกัญชาซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความมั่นคงของกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อันดับเครดิตสะท้อนถึงความมั่นคงของกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่เป็นศูนย์กลางกำไรและการลงทุนของบริษัทเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากกว่า 100 แห่งในหลายพื้นที่ซึ่งช่วยลดการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของโครงการใดโครงการหนึ่งหรือเพียงไม่กี่โครงการลงได้ ปัจจุบันกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 640 เมกะวัตต์
พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นองค์ประกอบหลักของสินทรัพย์ที่ผลิตไฟฟ้าของบริษัทโดยมีสัดส่วนเกือบ 75% ของกำลังการผลิตรวม ด้วยความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ พลังงานแสงอาทิตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพลังงานที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่คาดการณ์และสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทยังมีความเสี่ยงในการชำระเงินในระดับต่ำ โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนี้ บริษัทยังทำการขยายการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโดยจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชนอีกด้วย ซึ่งผู้ซื้อไฟฟ้าภาคเอกชนส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีสถานะด้านเครดิตในระดับที่ยอมรับได้ ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตภายใต้รูปแบบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท

มีความเสี่ยงประเทศเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทขยายธุรกิจในต่างประเทศโดยลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 4 แห่งในประเทศเวียดนามซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทหรือ 160 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การลงทุนในประเทศเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท
แม้ว่าความต้องการไฟฟ้าในประเทศเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตสูง แต่การลงทุนในเวียดนามก็มีความเสี่ยงจากประเทศที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity - EVN) นั้นไม่แข็งแกร่งเท่ากับสถานะเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐในประเทศไทย

โรงไฟฟ้าจะยังมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามคาด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าในแต่ละปีได้ในระดับปริมาณที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ 50% (ระดับ P50) ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมอยู่ที่ระดับ P75
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟแล้วของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามคาดอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของบริษัทนั้นน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจเกินกว่า 80% ตลอดในช่วง 3 ปีข้างหน้า

สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ในมุมองของทริสเรทติ้ง ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยการแข่งขันมีความรุนแรงสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากนโยบายเปิดเสรีของภาครัฐเพื่อจำกัดต้นทุนค่าไฟฟ้า บริษัทเอกชนต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมากไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ต่างก็ขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ในขณะที่อุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพียงเล็กน้อยจากผลของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ประเทศไทยก็กำลังประสบกับปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินจำนวนมาก ขณะที่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าในไทยเองก็หันไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าอันเนื่องมาจากความโปร่งใสและความต่อเนื่องของกฎระเบียบของประเทศที่ไปลงทุน รวมถึงสถานะเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้า และความท้าทายด้านสภาวะแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าก็กำลังกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่การผลิตไฟฟ้าซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้เผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า สำหรับธุรกิจจัดหาและผลิตอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้านั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้แม้การแข่งขันจะมีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทนั้นเกิดจากการที่บริษัทมีสินค้าที่มีความหลากหลายครอบคลุมทุกขั้นตอนของระบบการส่งและจำหน่ายไฟฟ้า บริษัทจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าจะสร้างรายได้ปีละประมาณ 1.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567
บูรณาการในแนวดิ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเนื่องจากธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มของบริษัทในปัจจุบันซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและผู้จัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า บริษัทสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Service) แก่เจ้าของโครงการซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างได้ดียิ่งขึ้นด้วย
การขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสร้างผลงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่องจากแผนของบริษัทในการนำบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจก่อสร้างเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบริษัทจะมีแนวโน้มเติบโตได้จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น สถานีไฟฟ้าย่อยและการนำสายสื่อสารและสายเคเบิลลงดิน
ณ เดือนธันวาคม 2564 งานในมือของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3.2 พันล้านบาท ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากงานก่อสร้างปีละ 2-3 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็มีความผันผวนจากความเสี่ยงหลายประการ เช่น การแข่งขันที่รุนแรง ความล่าช้าในการประมูลงานและว่าจ้าง รวมถึงการชะลอโครงการที่ไม่คาดคิดและต้นทุนโครงการที่สูงกว่าคาด นอกจากนี้ สัญญาก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสร้างความท้าท้ายต่อการควบคุมต้นทุนและการจัดการด้านทุนหมุนเวียนของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมักจะให้อัตรากำไรที่ต่ำกว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้า

การลงทุนใหม่ในธุรกิจกัญชงและกัญชา บริษัทกำลังลงทุนในธุรกิจใหม่ในการปลูกและผลิตกัญชงและกัญชา โดยบริษัททำการปลูกกัญชงเพื่อจะผลิตสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น ช่อดอกแห้ง น้ำมันซีบีดีแบบเต็มสเป็คตรัม และสารสกัดซีบีดี บริษัทใช้พื้นที่ว่างของโครงการพลังงานลมแห่งหนึ่งสำหรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกกัญชงและโรงสกัด และบริษัทคาดว่าจะเก็บเกี่ยวช่อดอกแห้งได้ประมาณ 1,100 กิโลกรัมต่อวันในปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินงาน
นอกจากนี้ บริษัทเพิ่งซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด (THCG) โดย THCG มีประสบการณ์ประมาณ 2 ปีในการผลิตกัญชงและกัญชา และมีสัญญาซื้อขายช่อดอกแห้งกับองค์การเภสัชกรรม THCG ยังกำลังพัฒนาสินค้าที่มีส่วนประกอบของซีบีดีเป็นพื้นฐานในหลายรูปแบบอีกด้วย

ความเสี่ยงจากธุรกิจใหม่ บริษัทมองว่าสินค้ากัญชงและกัญชามีโอกาสเติบโตสูงจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่ดังกล่าวยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินการต่าง ๆ โดยธุรกิจใหม่นี้ยังอยู่ในช่วงแรกของการพัฒนาและยังคงอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องใช้เทคนิคในการปลูกที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่น่าพอใจ บริษัทวางแผนจะเน้นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนแม้ว่าบริษัทเองจะยังไม่มีฐานการตลาดมาก่อนก็ตาม
แม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ แต่เงินลงทุนของบริษัทในธุรกิจกัญชงและกัญชาก็น่าจะอยู่ที่เพียงประมาณ 2 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4%-5% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น เงินลงทุนรวมจึงไม่น่าจะกดดันสถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่ดังกล่าวยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ในระยะยาว ทั้งนี้ จากการไม่มีประวัติการดำเนินงานมาก่อนทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์อย่างระมัดระวังว่าธุรกิจใหม่นี้จะสร้างรายได้ปีละ 0.4-2 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567

รายได้และกำไรน่าจะยังเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังสร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทจำนวนปีละ 5-5.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 โดยการเติบโตน่าจะมาจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาภายใต้สัญญาซื้อขายกับภาคเอกชนในประเทศไทย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตใหม่จากโครงการดังกล่าวจำนวน 150 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งจะช่วยให้กำลังการผลิตรวมของโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 800 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมโอกาสในการเข้าซื้อโครงการต่าง ๆ ที่จ่ายไฟแล้วเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอน เมื่อรวมรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เข้าไปด้วยจะทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทและ 5.5 พันล้านบาทตามลำดับในปี 2567 ขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 40%-50% ในช่วงปี 2565-2567

ความสามารถในการชำระหนี้จะยังคงแข็งแรง ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแรงในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่ใช้ระยะเวลาพัฒนาไม่นาน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาภายใต้สัญญาซื้อขายกับภาคเอกชน และการซื้อโครงการที่จ่ายไฟแล้วหรือกำลังจะจ่ายไฟ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนได้ทันที นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าฐานกำไรในปัจจุบันของบริษัทจะช่วยสนับสนุนการขยายการลงทุนใหม่ได้ในกรณีที่ต้องลงทุนตั้งแต่เริ่มแรก
ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1.5-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ขณะที่หนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 5 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในช่วง 60-70% ในช่วงประมาณการ

โครงสร้างหนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 หนี้เงินกู้รวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ประกอบด้วยหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 69% ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สภาพคล่องยังคงบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการกับสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดยหนี้ของบริษัทประมาณ 6.2 พันล้านบาทจะครบกำหนดในปี 2565 นี้ ในขณะที่ ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกับเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดอีกเกือบ 9 พันล้านบาทซึ่งน่าจะเพียงพอรองรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่และ/หรือจัดหาวงเงินจากธนาคารเพิ่มเติมเพื่อทดแทนหุ้นกู้จำนวนประมาณ 2.8 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.8 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวต่อไปได้ตลอดช่วงประมาณการ

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
บริษัทจะได้รับสัญญาก่อสร้างใหม่จำนวน 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2567
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ระหว่าง 40%-50%
เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1.5-3 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทซึ่งช่วยหนุนการเติบโตให้กับผลกำไรจะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากและมั่นคงได้ตามที่วางแผนไว้ ในขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในช่วงประมาณการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่ากำไรและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากกำไร กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ และโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ต่ำกว่าการคาดการณ์หรือเป้าหมายที่วางไว้อย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จำนวนมาก